Standard
ปี 2009 วงการดนตรีไทย โดยเฉพาะสายกีตาร์มีความคึกคักเกิดขึ้น เมื่อมือกีตาร์ที่ชื่อว่า “แจ็ค ธรรมรัตน์” ไปคว้ารางวัลการเล่นกีตาร์ระดับโลก ในชื่องานว่า Guitar Idol เขาคว้าแชมป์ โดยเอาชนะมือกีตาร์เก่งๆ จากหลายประเทศทั่วโลก เป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ ที่ทำให้บรรดามือกีตาร์ ในบ้านเราตื่นตัวมากๆ ทุกคนเห็นช่องทางว่า จากนี้เราสามารถเล่นกีตาร์แล้วทำให้คนทั่วโลกเห็นฝีมือของเราได้ ที่ผ่านมาเราอยากเห็นนักดนตรีไทยสักคน ก้าวไกลไปอยู่ระดับอินเตอร์ ให้ฝรั่งยอมรับจริงๆ ด้วยฝีมือ ไม่ใช่เชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียว และเมื่อชายที่ชื่อ “แจ็ค ธรรมรัตน์” กรุยทางนี้ได้ ก็เหมือนช่องทางสว่างให้กับมือกีตาร์ทุกคน จุดไฟความฝัน ทำให้เหล่าบรรดานักปั่นต้องทำการบ้านมากยิ่งขึ้น มีแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้น
Work Hard Play Harder
ถึงจะเป็นอย่างนั้น อ. แจ็ค ธรรมรัตน์ ของทุกคน ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ทุกคนเห็นแต่แรก อดีตมือกีตาร์วง Bean ผู้นี้ ในยุคเริ่มต้นคือมือกีตาร์ที่ทำวงประกวดทั่วไป ฝีมือถ้าให้พูดตรงๆ ไม่ใช่คนที่เราเห็นทุกวันนี้ เรียกว่าอยู่ระดับกลางๆ โซโล่ใช้ได้ แต่ไม่มีเอกลักษณ์ สิ่งที่ อ. แจ็คไม่เคยหยุด คือการซ้อมกีตาร์ พัฒนาและหาความรู้ใส่ตัว อ.แจ็ค คือคนที่ซ้อมกีตาร์แบบที่ฝรั่งทำ เรามักจะได้ยินคำถามว่า ฝึกกีตาร์วันละกี่ชั่วโมง พวกมือกีตาร์เก่งๆ มักจะตอบว่า 8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ซึ่งนั่นก็เป็นเวลาที่ อ.แจ็ค ใช้ในการซ้อมกีตาร์ การฝึกอย่างหนักหน่วง ต่อเนื่อง มันส่งผลต่อฝีมืออย่างเห็นได้ชัด จากมือกีตาร์ Rock ที่ปั่นได้เร็วคนนึง การเป็นมือกีตาร์ที่เล่นเมโลดี้ที่ซับซ้อน สวยงาม และมีการเรียบเรียงเพลงที่ดี แฟนเพลงที่รองาน อ.แจ็คมีทั้งไทยและสากล จากตรงนี้ทำให้เขาได้ร่วมงานกับ Jam Track Central และล่าสุดได้เป็น Back Up ให้ซุปเปอร์สตาร์อย่าง Wang Lee Hom อีกด้วย
Melodic Screamer
จุดเด่นของ อ. แจ็ค คือการเล่นกีตาร์ที่เต็มไปด้วยเมโลดี้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่แค่เล่นแบบดีดช้าๆ ยังมีความหวือหวาในเรื่องของความเร็ว มีเรื่องของแนวคิดในการใช้ Scale มีการใช้คอร์ดที่งดงาม การเปลี่ยนคีย์ ที่สำคัญเขาผนวก แรงบันดาลใจจากมือกีตาร์อย่าง Eric Johnson, Joe Satriani, John Petrucci เอามาปั่นผสมรวมกัน แล้วบวกกับทาง Fusion เล็กน้อยจนกลายเป็นแนวทางที่ลงตัว เป็นตัวอย่างที่ดีของการวาง เรฟเฟอร์เรนซ์ การใช้แรงบันดาลใจ มาสร้างผลงานในแบบของตัว อ. แจ็ค ธรรมรัตน์ สามารถทำในส่วนนี้ได้อย่างไร้ที่ติ ไม่น่าแปลกใจที่เขาคือกีตาร์ฮีโร่ที่เป็นไอดอลของยุคนี้
Instrument Of Jack Thammarat
แน่นอนกีตาร์ฮีโร่ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือเรื่องกีตาร์ อ. แจ็ค คือหนึ่งในมือกีตาร์ที่น่าสนใจ ในเรื่องอุปกรณ์มากๆ หนึ่งในความเป็น แจ็ค ธรรมรัตน์ นั่นก็คือเรื่องของการใช้อุปกรณ์นั่นแหละ แต่เราต้องเข้าใจตรงกันว่า อ. แจ็คเป็น Endorser ให้กับทาง Yamaha ซึ่งเป็นตัวแทนของ Line6, Pacifica, Laney ดังนั้นอุปกรณ์ของ อ. แจ็ค ส่วนใหญ่จะมาจากค่ายนี้ แล้วความลับในแง่อุปกรณ์ของแจ็ค ธรรมรัตน์ คืออะไรล่ะ
Gear : อุปกรณ์ของ อ.แจ็ค น่าสนใจตรงที่จะมีการโมดิฟายด์เยอะ เช่นกีตาร์โดยเฉพาะในพาร์ทอะไหล่ เช่น สปริง ด้านหลัง รวมถึงลูกบิดอุปกรณ์ที่เป็น Hardware ต่างๆ Pickup ที่โมด์ฯ เช่นเดียวกัน กีตาร์ที่ อ.แจ็คใช้มีทั้งแบบ SSS, SSH และ Humbucker มีทุกรูปแบบ ต่อมาพาร์ทของ Effect ซึ่งอ. แจ็ค ใช้ Line6 Helix ซึ่งถ้าดูเผินๆ ก็เหมือนธรรมดา แต่สิ่งที่น่าจะเป็นอาวุธลับ ก็คือการต่อกีตาร์ในระบบ Wet Dry Wet ที่มีทั้งเสียงกีตาร์ผ่านเอฟเฟ็กต์ (Wet) เสียงตรงๆ (Dry) มาผสมกัน แล้วออกลำโพงในแบบ Stereo ความเข้าใจในการจัดเรียงระบบการต่อ System กีตาร์นี่คือ ส่วนสำคัญในซาวด์แบบแจ็ค ธรรมรัตน์
Play
คราวนี้มาในส่วนของการเล่นกีตาร์บ้าง อย่างที่เกริ่นไปว่า อ.แจ็ค มีส่วนผสมหลักๆ ของ 3 มือกีตาร์ จึงทำให้วิธีการสร้างดนตรี และ Lick ของเขา จะมีกลิ่นของทั้ง 3 คนนี้ ค่อนข้างมาก โดยที่จะปรากฏในส่วนต่างๆ ของเพลง ซึ่งเราจะทำการย่อยออกมาให้ทุกท่านได้เห็นกัน โดยเราจะยกตัวอย่างจาก 3 บทเพลงนี้ เป็นสไตล์ดนตรีจาก แจ็ค ธรรมรัตน์
เป็นเพลงที่ทำให้เขาได้รางวัล Guitar Idol เพลงนี้จุดเด่นอย่างแรกก็คือ การเรียบเรียงคอร์ด ที่ใช้คอร์ด Tension ได้ค่อนข้างน่าสนใจ คราวนี้การเล่นกันบ้างในเรายกมาให้เห็นภาพสักท่อนนึงเมโลดี้ช่วงแรกจะเป็นการเล่นโน้ตที่มีการสไลด์ เข้าหาโน้ตหลักจากโน้ตในตำแหน่งที่ไกลกว่า รวมถึงการเล่นใน Melody ที่เป็น Tension พวก 9th ต่างๆ ซึ่งเป็นสไตล์การเล่นเมโลดี้แบบ Petrucci พอมาถึงท่อน Run ที่ผสมสายเปิด จนไปถึงท่อน Lick ที่เป็น Legato ผสม Sweep ตรงนี้จะเป็นกลิ่นของ Satriani ตัวโน้ตที่ไม่ได้ล็อค เป็นส่วนตายตัว การ Run Legato ผสม Sweep รวมถึงดันสายต่างๆ ท่อนนี้เหมือนเป็นการรวม 2 สไตล์นั้นเข้าด้วยกัน
เราจะได้อะไร : การเล่นเมโลดี้ในเพลงนี้น่าสนใจ ลองดูจะมีการเล่นเมโลดี้ 2 ตัวซ้ำๆ กัน สิ่งที่ทำให้เสียงแตกต่างก็คือ Grace Note Slide เพื่อเข้าโน้ตนั้น และช่วยในการเชื่อมเมโลดี้ได้ดี ทำให้ได้เสียงที่แตกต่างจากโน้ตตัวเดียวกัน และการ Run Legato ที่ไม่ได้คิดจากจำนวนโน้ต แต่เป็นเสียงของ Phase นั้นๆ มากกว่า ลองแยกฝึกช้าๆ ก่อน
เพลงนี้มีจังหวะการเล่นที่เป็น Swing16th ซึ่งจะกระตุกๆ หน่อย การใช้เมโลดี้ เป็นการเล่นในสไตล์ Eric Johnson คือคิดเมโลดี้ออกมาจากคอร์ด Triad ง่ายๆ แล้วเล่นข้ามสายเน้นเมโลดี้ที่โน้ตตัวล่าง ซึ่งจะทำให้ได้เสียง Open Voice แบบกระโดดไป กระโดดมาง่ายๆ รวมถึงการเล่น Phase Pentatonic แบบง่ายๆ ในสไตล์ของ Joe Sat ซึ่งทำให้เพลงนี้ดูลงตัวมาก จากสิ่งที่เป็นพื้นฐานเหล่านี้
เราจะได้อะไร : บางครั้งการสร้าง เมโลดี้ อาจจะไม่ต้องไปหาอะไรให้ยาก การเล่น Triad แล้วสร้าง เมโลดี้ขึ้นลงจากตรงนั้น แล้วลองวิเคราะห์ว่าเป็น Triad อะไรในคอร์ดอะไร ดังในตัวอย่าง Triad C#m บนคอร์ด A ทำให้ได้ซาวด์ของ Amaj7 ทำให้ฟิลเพลงดูซอฟต์ลง ลองศึกษาในส่วนนี้ดู รวมถึงวิธีการเล่นใน Feel หลายๆ แบบ เช่นในแบบ Swing 16th ที่ปรากฏในเพลง ลองเล่นใน Groove ลักษณะนี้ดูจะทำให้มีไอเดียในการเล่นกว้างมากขึ้น
สำหรับในเพลงนี้จะเป็นการใช้ความเข้าใจในเรื่องของ Scale และเทคนิค รวมถึงสำเนียงและอิทธิพลการเล่นที่ อ. แจ็คได้รับมา มาผสมกัน เริ่มจากเพลงนี้จะมีคอร์ดที่ถูกเรียงกันเป็น E-D-C#m7-C-D ซึ่งแต่ละคอร์ดจะใช้ Scale ที่ต่างกัน โดย E จะอยู่ใน Scale ของ E Major และ E Major Pentatonic พอมา D จะอยู่ใน E Mixolydian กลับมาอยู่ Scale C# minor ในคอร์ด C#m7 พอไป C จะอยู่ใน Mode C Lydianล ซึ่งทั้งหมด จะถูกเชื่อมกันด้วย Tonal E (เราสามารถมอง C Lydian ในมุมมองของ E minor ก็ได้) วิธีนี้ เป็นเทคนิคการประพันธ์ที่ John Petrucci ชอบใช้ ในส่วนของ Lick เราจะเห็นเทคนิค Hybrid ที่มีซาวด์คล้ายๆ Cliffs Of Dover แต่วิธีการเล่นไม่เหมือนกัน ท่อน Run Pentatonic ที่มีท่อนพักกับ Interval คู่ 4 ที่มีการกางนิ้วกว้างๆ แบบ Joe Satriani ก่อนจะจบด้วยวลีบลูส์แบบ 3 พยางค์ ท่อนนี้เป็นการรวมอิทธิพลดนตรีทั้งหมดผ่านการเล่นในเวลาไม่กี่นาที
เราจะได้อะไร : จากทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ว่าจะใช้ Lick ที่พิสดารแบบไหน หากไม่เข้าใจ ความสัมพันธ์ของ Mode และ Scale ต่างๆ ก็ยากที่จะสร้าง ดนตรีดีๆ ออกมาได้ กลับกัน ถ้าเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ การจะใช้เทคนิค พิสดารแค่ไหน ก็กลายเป็นดนตรีได้อยู่ดี ลองวิเคราะห์จากจุดนี้ดู