คราวนี้ผมมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ไม่รู้ว่าจะฝึกอะไรบ้าง หรือผู้ที่อยากเริ่มฝึกฝนเบสให้มากขึ้นกว่าเดิม จริงอยู่ว่าการฝึกฝนเป็นสิ่งที่บรรดานักดนตรีขาดไม่ได้ แต่หลายครั้งก็ไม่รู้จะเริ่มจากการฝึกอะไรดี ผมจึงมาลองเสนอสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ในเวลาราวๆ 16 สัปดาห์ ก็ประมาณเวลาว่าเท่ากับการเรียน 1 course พอดี แล้วแต่ว่าเราจะแบ่งออกเป็นระยะเวลาที่เร็วกว่านี้ก็ได้ แล้วแต่ว่าเราใช้เวลาเท่าไหร่กับหัวข้อต่างๆ ลองมาดูกันครับว่าเราจะเริ่มจากอะไรกันดี
หัวข้อที่ 1 : เรียนรู้เรื่องการวางมือบนตำแหน่งต่างๆ ของเบส ทั้งมือซ้ายและขวา เราควรฝึกการวางมือซ้ายบน Fingerboard ซึ่งสามารถวางได้ 2 รูปใหญ่ๆ คือแบบ Basic Form คือการวางเรียงนิ้วชี้ กลาง นาง ก้อย โดยเริ่มจากเฟร็ตที่ 1 เรียงไปจนถึงเฟร็ตที่ 4 ตามลำดับ แล้วก็ฝึกการเคลื่อนที่ของนิ้วมือซ้ายจนรู้สึกว่าไม่มีการต้องบังคับนิ้วต่างๆ ให้เคลื่อนไปยังจุดที่ต้องการ ซึ่งเสียงจะสั้นหรือยาวมันก็อยู่ที่การควบคุมนิ้วมือซ้ายว่า การเคลื่อนที่ของการเปลี่ยนนิ้วนั้นมันทำให้เกิดช่องว่างของหางเสียงหรือไม่ กับอีกแบบหนึ่งคือแบบ Extened Form ซึ่งก็คือการใช้นิ้วชี้ กดบน Fingerboard ถึง 2 ช่อง คือช่องที่ 1 และ 2 ส่วนนิ้วกลางก็ย้ายไปกดช่อง 3 นิ้วนางช่อง 4 และนิ้วก้อย ช่อง 5 เท่ากับว่าการดีดให้ครบวิธีนี้ เราต้องดีดถึง 5 ครั้งด้วยกัน ส่วนมือขวา เราก็ฝึกดีดสลับนิ้วไปมา ปกติ แต่ลองเปลี่ยนตำแหน่งที่นิ้วมือขวาที่ดีดนั้น ไปยังตำแหน่งต่างๆ เช่น Neck Position ดีดให้ใกล้คอเบส, Center Position ดีดตรงบริเวณกลางลำตัวของเบส, Bridge Position ดีดให้ใกล้หย่อง ซึ่งโทนเสียงของทั้ง 3 ตำแหน่งนี้ จะให้เนื้อเสียงที่แตกต่างกัน ถือว่านี่เป็นสัปดาห์แรกของการทำความรู้จักกับน้ำเสียงและการเคลื่อนมือทั้งซ้ายและขวา ซึ่งเราก็สามารถพลิกแพลงการกดของมือซ้ายให้ไปทั่วทั้งคอได้ตามการต่อยอดของการฝึกนี้
หัวข้อที่ 2 : เรียนรู้เรื่องพื้นฐานของ Scale เช่น Chromatic Scale พร้อมทั้งทดสอบวิธีการวางมือในตำแหน่งต่างๆ ทดสอบการดีดด้วยมือขวาในรูปแบบต่างๆ (สลับนิ้ว, นิ้วเดิม) ฝึกจำ ชื่อโน้ตในตำแหน่งต่างๆ พอเราเริ่มควบคุมนิ้วมือซ้ายและขวาได้แล้วก็ลองเลื่อนนิ้วไปทีละช่องพร้อมกับจำชื่อโน้ตบนแต่ละจุด ซึ่งถ้าเราเล่นไปครบ 12 จุด ก็เท่ากับว่าเรากำลังเรียนรู้เกี่ยวกับคำว่า Chromatic ไปด้วย ซึ่งก็เป็น 12 ตัวโน้ตมาตรฐานของดนตรีสากลนั่นเอง ซึ่งถ้าเราไล่เสียงให้สูงขึ้น ก็ใช้คำว่า Sharp (#), ถ้าไล่เสียงต่ำลงก็ใช้กับคำ Flat (b) ผนวกเพิ่มเข้าไป
หัวข้อที่ 3 : เรียนรู้เรื่องพื้นฐานของ Scale เช่น Major Scale พร้อมทั้งทดสอบวิธีการวางมือในตำแหน่งต่างๆ เรียนรู้พื้นฐานการใช้นิ้วมือซ้ายในการเริ่มเล่น Scale ด้วยนิ้วต่างๆ (ชี้, กลาง, ก้อย) การเริ่มต้นฝึกสเกลนั้น ถ้าเราเข้าใจเรื่อง Sharp #, Flat b ต่างๆ แล้ว จะทำให้เราเข้าใจในการเขียนและเรียงลำดับของโน้ตในสเกลต่างๆ ได้ค่อนข้างแม่นยำและมั่นใจ รวมถึงการที่เราสามารถใช้นิ้วต่างๆ ในการเริ่มดีดชื่อสเกลนั้นๆ ในรูปแบบต่าง ซึ่งก็มีทั้งแนวตั้ง และแนวนอน เราสามารถไล่สเกลได้ตั้งแต่ 1 สาย 2 สาย 3 สาย 4 สาย โดยใช้วิธีการเคลื่อนนิ้วให้สัมพันธ์กัน เราก็จะเห็นตำแหน่งต่างๆ บนคอเบสได้อย่างไม่ยากเย็นเท่าใดมากนัก บางคนก็คุ้นเคยกับรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่เราถนัด พอต้องลองหาทางนิ้วใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไป บางทีกลับหาไม่เจอ ซึ่งเราก็ต้องอาศัยการฟังและพยายามจดจำทำความคุ้นเคยของลำดับของเสียงในสเกลนั้นๆ เวลาที่เราเล่นเพี้ยนออกไป เราจะสามารถรับรู้ได้แทบจะทันที ซึ่งเท่ากับว่าเราต้องหาไอเดียเรื่อง Position ต่างๆ บนคอเบสมาฝึกฝน จะได้จดจำเสียงและตำแหน่งได้ค่อนข้างแม่นยำ และเป็นตัวเลือกให้เราตัดสินใจเลือกเล่นได้อีกด้วย
หัวข้อที่ 4 : เรียนรู้การไล่ Major Scale 2 Octave ในรูปแบบต่างๆ ที่เราทำความเข้าใจมาแล้ว พร้อมทั้งเพิ่มเติมไอเดียของการประยุกต์ใช้นิ้วมือต่างๆ เราต้องพยายามหาหนทางในการไล่สเกลให้ได้มากกว่า 1 Octave ซึ่งพื้นฐานก็มาจากการทำความเข้าใจในเรื่องการใช้นิ้วเป็นตัวเริ่มต้นของสเกลและตำแหน่งในการเลือกตัวโน้ตทั้งแนวตั้งและแนวนอน รวมถึงจำนวนสายที่เราต้องการที่จะไล่ให้ครบจำนวนที่เราต้องการด้วย บางทีก็เป็นเหมือนมีสูตรตายตัว บางทีก็แล้วแต่ว่าตำแหน่งของนิ้วมือซ้ายเรามันไปตกอยู่ตรงไหน นั่นเท่ากับว่าเรากำลังหาไอเดียใหม่ๆ สำหรับทางเลือกของเราอยู่ แต่แน่นอนว่าเราควรมีตำแหน่งที่แน่นอนเอาไว้อ้างอิงกับไอเดียใหม่ๆ ด้วย เผื่อว่าถ้าไม่ได้ดังใจ ตำแหน่งที่คุ้นเคยอาจเป็นตัวเลือกที่เราสามารถดึงออกมาใช้ในเวลาฉุกเฉินก็เป็นได้
หัวข้อที่ 5 : ทดสอบความจำ ชื่อโน้ตในตำแหน่งต่างๆ ฝึกการเล่น Octave Jump อันนี้เหมือนการเล่นเกม Random ซึ่งหมายถึงการสุ่มหาตัวโน้ตชื่อเดิมในตำแหน่งต่างๆ เช่นเราตั้งใจจะหาโน้ตตัว E สัก 6 ตำแหน่ง โดยการดีดต่อเนื่อง เท่ากับว่าสายตาของเราต้องหาชื่อโน้ตตัว E ในตำแหน่งต่างๆ ค่อนข้างแม่นยำ เพื่อที่นิ้วมือซ้ายจะสามารถเคลื่อนไปหาได้โดยไม่ขาดตอนและสะดุด เป็นเกมที่จะว่าง่ายก็ไม่เชิง ยากก็ไม่ขนาดนั้น เราสามารถเปลี่ยนชื่อเรียกได้ตามความต้องการของเรา เช่นอยากหาตัว B หรืออยากหาตัว Cb (ซึ่งจริงๆ ก็คือตำแหน่งเดียวกัน เสียงเดียวกัน แต่เรียกคนละชื่อ ตามบันไดเสียงที่เรียกแตกต่างกัน แบบนี้ก็สร้างความคุ้นเคยให้เราได้ดีพอสมควร บางทีเจอโน้ตที่ตามทฤษฏีต้องเขียนเป็น Cb บางทีก็เจอที่ต้องเขียนเป็น B ก็เจอบ่อยๆ อยู่เหมือนกัน)
ลองเริ่มจาก 5 หัวข้อนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจกับคอเบสของเรา ซึ่งแน่นอนว่าบางคนใช้เวลาไม่นาน หรือบางคนอาจใช้เวลานานกว่า คงต้องแล้วแต่ว่าเราเริ่มเข้าใจหัวข้อต่างๆ และใช้เวลากับมันเพียงใดในการเล่นแล้วได้ดั่งใจ ส่วนเพลงเราก็แกะเล่นไปตามปกติ มีเวลาอยากเจาะให้ลึก ฟังให้กระจ่างก็ค่อยกลับมาที่หัวข้อแบบที่ผมแนะนำดูก็ไม่ผิดกติกาครับ