คุณเคยไปเทศกาลคอนเสิร์ตหรืองานคอนเสิร์ตอะไรก็แล้วแต่ แล้วไปก่อนเวลาโชว์หรือเปล่า เราเชื่อว่าอาจจะต้องมีหลงๆ กันบ้างล่ะ (ฮา) พอไปถึงคุณอาจจะเห็นทีมงานของศิลปินกำลังทำอะไรกันสักอย่างบนเวที อาจจะไม่ใช่ส่วนใหญ่ แต่เชื่อว่ามีคนส่วนหนึ่งแหละที่จะนึกสงสัยว่า ไอ้เช็ก วัน ทู อยู่ๆ เปิดเพลง อยู่ๆ ขอนู่นนี่เพิ่ม อยู่ๆ มีเสียง “ซ่า” แล้วก็มีคนเดินเต็มไปหมด ตีกลอง เล่นเครื่องดนตรี แล้วก็ซ้อมเพลงของศิลปินบ้าง เล่นเพลงนู่นนี่นั่นบ้าง นี่พวกนายมาทำงานนะ มานั่งเล่นเพลงอะไรกัน ฯลฯ นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าซาวด์เช็กนั่นเอง การซาวด์เช็กนั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก การที่จะทำให้งานแสดงดนตรีนั้นราบรื่นเสียงดนตรีของทุกเครื่องจะต้องสมบูรณ์เพียงพอที่จะทำให้ทั้งคนเล่นและคนดู แฮปปี้กับเสียงที่ออกเพื่อที่จะให้การแสดงครั้งนั้นสมบูรณ์ ซึ่งมันมีปัจจัยหลายอย่างมากที่คุณอาจจะไม่รู้ในการแสดงของศิลปินสักครั้งนึง มันมีอะไรบ้างก่อนที่คุณจะได้รับความสุขจากเสียงเพลง เรามาดูกันว่าทีมเทคนิเชี่ยนและซาวด์เอ็นจิเนียร์ทำอะไรกันบ้าง
Back Stage And Sound Engineering
เข้าพื้นที่ หลังจากที่เจ้าของที่ติดต่อเพื่อที่จะนำศิลปินมาเล่นเรียบร้อย สมมติว่าศิลปินเล่น 4-5 ทุ่ม ทีมงานของศิลปินเหล่านั้นจะเข้ามาทำการ “สำรวจพื้นที่” อันดับแรกพวกเขาจะเข้ามาสำรวจ “ระบบไฟ” ก่อน มาดูว่ามีการต่อกราวด์ไหม เฟสตรงมั้ย จำนวน “แอมป์” สามารถรองรับเครื่องเสียงได้หรือไม่ โดยส่วนใหญ่ทีม System จะมีตัวมิเตอร์วัดอยู่แล้ว หรือทีม Back Stage เองก็จะมีเครื่องวัดระบบไฟเช่นกัน ซึ่งมันสามารถบอกได้ว่าสัญญาณในนั้นเป็นอย่างไร
ขนเครื่องเข้า หลังจากนั้น เครื่องดนตรีก็จะถูกทยอยนำมาตั้งตามตำแหน่งของวง เมื่อทุกอย่างถูกเซ็ตจัดวางแล้วขั้นต่อไปก็จะเป็นการต่อสายเพื่อเช็ก Input Output
Input & Output จากนั้นจะเริ่มเช็ก Input Output โดยเริ่มดูแต่ละ Channel ในบอร์ดมิกซ์ว่า Input, Output ตรงกันหรือไม่ เช่นกลองจะมี Kick, Snare ต่างๆ ว่าทางฝั่งบอร์ดมิกซ์ (FOH = Front Of House) กับบนเวที แต่ละ Channel ตรงกันหรือไม่ โดยเบสิกแล้วจะมี 16 Channel
Pink Noise ก็คือไอ้เสียง “ฟี่ๆ ซ่าๆ” บนเวทีนั่นเอง เสียงนี้จะถูกส่งไปที่มอนิเตอร์บนเวทีนั่นเอง ซึ่งเทคนิเชี่ยนบนเวที จะดูว่าเสียงออกที่ Aux ไหน ตรงกันหรือไม่ มันจะออกไปที่มอนิเตอร์ของนักดนตรีแต่ละตำแหน่ง หรือถ้าเวทีใหญ่พิเศษหน่อย อาจจะมี Side Field ด้านข้างเวที แล้วสิ่งนี้สำคัญมากเพราะจะเป็นการเช็กว่าลำโพงมี “ย่านเสียง” ครบหรือไม่ เพราะ Pink Noise จะมีทุกความถี่ตั้งแต่ 20Hz-20k ซึ่งถ้าลำโพงขาดความถี่ไป เทคนิเชี่ยนจะบอกว่าลำโพงตัวไหนขาดย่านเสียงอะไร ซึ่งเสียงเหล่านี้ คนธรรมดาถ้าตังใจฟังก็จะพอรู้ได้เช่นกัน ปัจจุบันด้วยความที่บอร์ดมิกซ์เซอร์มีความเป็น Digital ในแต่ละบอร์ดก็จะมีซาวด์ Pink Noise ให้เลย เพราะฉะนั้น โทนเสียงของแต่ละมิกซ์เซอร์ก็จะให้โทนที่ต่างกันด้วย
จูนลำโพง ในกรณีที่เป็นงานซีเรียส จะใช้ App RTA วัด แล้วตั้งค่าให้เป็นแฟลต แต่ถ้าเป็นงานปกติ จะใช้วิธีก็คืออาจจะใช้เสียงของตัวซาวด์เอ็นฯ และเปิดเพลงที่เราคุ้นกับมันที่สุด ไม่ได้หมายความว่าเพลงที่เปิดจะเป็นเพลงที่ลิงค์กับวงเสมอไป (ซึ่งอันที่จริงถ้าลิงค์กับศิลปินนั้นๆ ได้ก็จะดี) เพลงจะเป็นเพลงที่ “ซาวด์เอ็นจิเนียร์คุ้นกับทุกย่านเสียงในเพลงนั้น” เพราะฉะนั้นซาวด์เอ็นจีเนียร์ในแต่ละงานจะต้องมีเทสต์ (รสนิยม) ใกล้ๆ กับวงดนตรี หรือศิลปินนั้นๆ อยู่แล้ว โดยปกติจะใช้เวลาโดยเฉลี่ยครึ่งชั่วโมง ซึ่งแล้วแต่ความถนัดของคน แต่ถ้าบางคนจำความถี่แม่นก็จะใช้เวลาที่รวดเร็ว ตรงนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนด้วย
ทำ Tone เครื่องดนตรี ตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของเทคนิเชี่ยน จริงอยู่ที่ว่าการซาวด์เช็ก ตัวคนเล่นควรที่จะมาซาวด์เอง แต่แน่นอน ในกรณีที่เป็นศิลปินต้องทัวร์เยอะๆ เราก็พอจะเข้าใจ คราวนี้ (ฟังให้ดีๆ นะครับ สำหรับน้องๆ ที่อยากเป็นเทคฯ) เทคนิเชี่ยนจะต้องเล่นเพลงของศิลปินนั้นๆ โดยที่ “ไดนามิก” ใกล้เคียงกับ ศิลปินคนนั้นมากที่สุด (ไดนามิกคือการดีดสั้นยาวดังเบา) เพราะฉะนั้น ลำดับแรกเทคนิเชี่ยนอาจจะไม่ได้เล่นเพลงของศิลปินคนนั้นเหมือนแต่สิ่งที่ต้องใกล้เคียงคือ “น้ำหนักการเล่น” ให้ใกล้เคียงที่สุด ดังนั้น คนที่อยากจะเป็นเทคฯ ต้องคอยสังเกตให้ดีๆ ซึ่งถ้าทำได้ดีจะสามารถต่อยอดไปทำงานด้านอื่นได้อีกด้วย ศิลปินจะฝากชีวิตไว้กับเทคนิเชี่ยนมาก ยิ่งถ้าเป็นเทคฯ ที่ใส่ใจจริงๆ จะรู้ถึงขั้นที่ว่าศิลปินคนที่เขารับผิดชอบอยู่ ฟังอะไรใน Ear Monitor
ขอมอนิเตอร์ จากนั้นก็จะเป็นการฟังมอนิเตอร์ เทคฯ จะต้องรู้ว่าศิลปินคนนั้นชอบฟังอะไร เช่นนักร้องชอบฟังเสียงคีย์บอร์ด ก็ต้องบอกได้ จะมีบางกรณีที่ซาวด์เช็กขอมอนิเตอร์แบบนึง แต่เล่นจริงเป็นอีกแบบนึง แต่ก็จะมีไม่บ่อย ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่มีคนมาแทนตำแหน่งคนเดิมเป็นการชั่วคราว ดังนั้น เทคฯ จึงสำคัญมากทีเดียว ตรงนี้จะมีปัญหาหลายเรื่องเช่นเสียงฟีดแบ็ค ความถี่ที่ดังไป ความดังของเสียงตรงไหน ต้องเพิ่ม ต้องลด ตรงนี้จะเป็นการทำงานร่วมกันของเทคฯ และซาวด์เอ็นฯ ถึงตอนนี้จะเป็นขั้นตอนที่สำเร็จของการ Pre Production แล้ว
โชว์เริ่ม ก่อนที่โชว์จะเริ่มซาวด์เอ็นฯ จะมาเช็กทุกอย่างใหม่แต่แรก แต่ในเวลาที่กระชั้นขึ้น เพราะทุกอย่างได้ทำการเซ็ตเรียบร้อยก่อนหน้าเรียกว่า รีเช็คกันอีกรอบ ถ้าในงานที่ไม่ได้นำ Mixer ไปเองเทคฯ จะมาร์คตำแหน่งไว้ว่าแต่ละไลน์เป็นอะไร คราวนี้เช็กให้ตรงกันเป็นอันใช้ได้ ปัญหาที่จะเกิดก็คือปลายสายไม่ตรง ซึ่งในกรณีนี้อาจจะทำให้เกิดความล่าช้าได้ ซึ่งบางครั้งต้องยอมแก้ไขปัญหาก่อน ยอมล่าช้าดีกว่าโชว์เจ๊ง
10 นาทีแรก ถ้าทุกอย่างไปตามแผนจะไม่เกิดปัญหาอะไร ก็อาจจะมีขอเสียงขึ้นลง นิดหน่อยของแต่ละตำแหน่ง
30-40 นาที เมื่อคนเข้ามาดูเยอะขึ้น ก็จะเป็นเรื่องของห้อง และระบบเสียง ปัญหาจะย้อนกลับมาว่าตอนที่ซาวด์เช็กเผื่อไว้หรือเปล่า บางทีมีเรื่องของอากาศ เช่นถ้าความร้อนสูง ย่านเสียงสูงจะเพิ่มขึ้น ย่านต่ำจะบางลง ถ้าในอุณหภูมิที่สวิงมากๆ เช่นเทศกาลดนตรี ที่อากาศหนาว ร้อน ต่างกัน ต้องเผื่อไว้ด้วย หรืออย่างถ้าคนเข้ามาเยอะๆ ย่าน Low ก็จะเพิ่มมากขึ้น (ในบางที่ถ้าวางระบบถูกต้องจะไม่ค่อยมีปัญหา) หรือถ้าคนไปยืน ออ กันที่ Sub Woofer ก็จะทำให้ย่านเสียงต่ำ ตีขึ้นเวที แล้วพอไปเข้าไมค์ก็จะเกิดเสียงที่รบกวน ก็ต้องคัดย่าน Low ทิ้ง (แบนด์จะมีปัญหามากกว่า ดีเจ)
ใกล้จบ ข่าวดีก็คือเมื่อใกล้จบจะเป็นช่วงที่เครื่องเสียง การปรับต่างๆ เข้าที่ ดังนั้นตรงจุดนี้ปัญหาจะไม่มากนัก ถ้าทุกอย่างทำถูกต้องมาตั้งแต่ต้น
จบงาน เทคนีเชียนจะมาเก็บของ และ Supplier จะมาเช็กลำโพงต่างๆ ว่าอยู่ครบมั้ย โดยใช้วิธีเปิด Pink Noise ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจถ้าตอนคุณดูคอนเสิร์ตจบ เขาต้องเปิดไอ้เสียง “ซ่าๆ” อีกครั้ง เป็นการเช็กลำโพงนั่นเอง