จริงๆ แล้วการเล่นดนตรีถ้าจะเล่นให้เสียงออกมาไพเราะ ในเบื้องต้นเราต้องเล่นโน้ตให้ถูกตำแหน่งในเครื่องดนตรีนั้นๆ ซึ่งนั่นคือเบสิกเบื้องต้นที่เราต้องเล่นให้ได้ก่อนจากนั้นมาถึงวิธีที่จะทำยังไงให้ฟังดูดี ในแต่ละเครื่องดนตรีก็มีวิธีของตัวเองสิ่งจะทำให้โน้ตที่ถูกต้องฟังดูไพเราะมากยิ่งขึ้นก็คือการใช้เทคนิคที่ทำให้เสียงที่ถูกต้องในแต่ละเครื่องนั้น มีโทนเสียงที่ต่างออกไป หรือที่เรียกกันแบบบ้านๆ ว่าเล่นให้มีสำเนียงนั่นเอง ซึ่งกีตาร์เป็นเครื่องดนตรีที่มีความน่าสนใจในการสร้างโทนเสียงเหล่านั้นโดยการใช้เทคนิคต่างๆ ในเพลงที่เราจะยกตัวอย่างคือเพลงของ Polycat ที่ชื่อว่าอาวรณ์ เพลงนี้มีท่อน Intro ที่น่าสนใจในการยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าการใช้เทคนิคต่างๆ จะทำให้การเล่นกีตาร์ฟังไพเราะขึ้นได้อย่างไร
Ex.1 ทำไมต้องดันสาย
การดันสายคือเทคนิคที่ทำให้ระดับโน้ตเสียงสูงขึ้น ในกีตาร์เป็นเครื่องดนตรีที่สามารถดันสายให้ได้โทนเสียงที่หลากหลาย หลักในการดันสายคือทำให้ระดับเสียงของตัวโน้ตสูงขึ้น ซึ่งเสียงที่สูงขึ้นก็จะเป็นไปตามระยะห่างของโน้ตใน Scale บางตัวก็ต้องสูงขึ้น 1 เสียง บางตัวก็ต้องสูงขึ้นครึ่งเสียง เช่นในตัวอย่างถ้าเราจะเล่นโน้ต E สาย 2 ด้วยการดันสาย ก็ต้องดันสายขึ้นไป 1 เสียงที่เฟร็ต 3 จากโน้ตตัว D ที่เสียงต่ำกว่า เป็นต้น
Ex.2 Unison Bend
สำหรับ Unison Bend เป็นเทคนิคที่เรียกว่าเป็นการเล่นโน้ตตัวเดียวกันให้ได้โทนเสียงที่ต่างกันซึ่งกีตาร์เป็นเครื่องดนตรีเดียวที่ทำอะไรแบบนี้ได้ดีและมีเอกลักษณ์ วิธีการเล่น Unison Bend เราจะมีโน้ตที่เป็นเป้าหมายอยู่ในสายที่เสียงสูงกว่า แล้วดันสายในโน้ตที่อยู่สายเสียงต่ำกว่า โดยปกติจะนิยมทำในสาย 2 กับ สาย 3 เพราะโน้ตที่ดันจะอยู่ห่างไป 2 เฟร็ตซึ่งเป็นระยะที่พอดีกับกายภาพของมือ คราวนี้วิธีเล่นคือดีดทั้ง 2 สายพร้อมกันโดยดันสายที่เสียงต่ำกว่าขึ้นไป 1 เสียง ให้เสียงตรงกัน จะทำให้โน้ตตัวนั้นมีเสียงที่หนาขึ้น
Ex.3 Hammer On, Pull Off, Slide
เทคนิคที่ทำให้เสียงโน้ตนั้นมีความน่าสนใจอีกแบบคือพวกเทคนิคที่เรียกว่า Hammer On, Pull Off, Slide เทคนิคพวกนี้จะทำให้โทนเสียงของโน้ตมีไดนามิกมากขึ้น ทั้ง 3 เทคนิคมีหลักการเดียวกันคือ “การเล่นโน้ต 2 ตัวด้วยการดีดเพียงครั้งเดียว” Hammer On คือการเล่นโน้ตเสียงต่ำแล้ว”เคาะ” ไปหาเสียงสูง Pull Off คือการเล่นเสียงสูงแล้ว”เกี่ยว”กลับไปที่โน้ตเสียงต่ำ Slide คือการดีดทีเดียวแล้วใช้นิ้วข้างที่กดเลื่อนไปหาโน้ตที่สูงหรือต่ำกว่าก็ได้ ซึ่งทั้ง 3 เทคนิคทำให้เกิดสำเนียงบนกีตาร์
Ex.4 Grace Note
เป็นเทคนิคที่ต่อยอดมาจาก Ex.3 แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ ใน Ex.3 เราจะเล่นเป็นโน้ต 2 ตัวต่อเนื่องกัน แต่สำหรับการเล่น Grace Note คือการเล่นเทคนิคที่กล่าวมาด้วยการดีดให้อยู่ในโน้ตตัวเดียว เช่นจะเล่นโน้ตที่เฟร็ต 7 สาย 2 แล้วเราอยากได้เสียง Grace Note เราจะต้องดีดที่เฟร็ตอื่นที่ไม่ใช่เฟร็ต 7 แต่อยู่ในสายเดียวกันแล้วใช้เทคนิคที่กล่าวมาเล่นเข้าหาเฟร็ต 7 ในจังหวะเดียว ในโน้ตตัวเดียวซึ่งจะทำให้ได้เสียงที่หลอกหูทำให้เหมือนมีโน้ต 2 ตัวโดยการดีดครั้งเดียว
Ex.5 อาวรณ์แบบแข็งๆ
คราวนี้เรามาเล่น Intro เพลงอาวรณ์แบบเต็มๆ ถ้าเราเล่นตามเสียงโน้ตเต็มๆ เลย ก็จะได้แบบที่แสดงใน Tab ซึ่งเสียงจะฟังดูแข็งๆ และดูค่อนข้างตลกพอสมควร
Ex.6 อาวรณ์แบบสำเนียง
คราวนี้เราลองใส่ เทคนิคอย่าง Unison Bend กับพวก Grace Note เข้าไปในเมโลดี้ที่เป็นเมโลดี้ตรง จะเห็นว่าจะได้โทนเสียงที่น่าสนใจขึ้นมามากทีเดียว คราวนี้ให้เราลองฟังว่าโน้ตตรงที่เป็น Grace Note ควรจะเล่นเป็นแบบ Hammer On Pull Off หรือ Slide ลองฟังจากตัวเพลงจริงๆ ประกอบเพื่อเพิ่มทักษะในการแกะเพลงเข้าไปด้วย