2 หนุ่ม 1 สาว ในนามวง Indigo นี่เป็นอีกหนึ่งวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จจากการเดินทางและใช้ชีวิตบนเส้นทางดนตรี “อาขีพ” จริงๆ บลู / ขวัญ / โดนัท ทั้ง 3 คนผ่านมาตั้งแต่เวทีประกวด การออกผลงาน ผ่านชีวิตนักดนตรีกลางคืนมาอย่างโชกโชน ได้ลิ้มรสชาติที่ทั้งหวาน และขม กับวงการเพลง สิ่งสำคัญคือมุมมอง วิธีคิดในการดำเนินชีวิตแบบเข้าใจวงการ จนทำให้มีเพลงฮิต มีคนรู้จัก มีอัลบั้ม ไปจนถึงคอนเสิร์ตใหญ่ ของวงอย่าง Indigo Supernova Concert ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เรื่องราวของทั้ง 3 คน อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครก็ตามที่อยากเข้ามาในวงการดนตรี ได้ใช้เป็นแนวทาง หรือหากอยากจะรู้ว่าเบื้องหลังรอยยิ้ม และความสนุกสนานของทั้ง 3 คนว่าพวกเขาผ่านอะไรมา ถึงมายืนหยัดในวงการในนาม Indigo ได้ ลองมาดูไปพร้อมกัน
ย้อนไปวันแรกของ Indigo
บลู : ถึงตอนนี้วงเราก็ก่อตั้งมา 6 ปีกว่าๆ จะเข้าปีที่ 7 แล้ว ถ้าย้อนไปตอนเราทำเพลง “ยังคง” เพลงแรก ตอนนั้น ผมถูกวางไว้จะออกเป็นศิลปินเดี่ยว ก็รับเงินเต็มคนเดียว (หัวเราะ) จนพี่โอ๊ป (เพิ่มศักดิ์ พิสิษฐ์สังฆการ) บอกว่าให้เพื่อนๆ มาช่วยทำเพลงด้วยดีกว่า เพราะมันต้องมีไลน์กีตาร์ กลอง เบส ซึ่งผมก็มีเพื่อนๆ ที่เล่นด้วยกันอยู่แล้ว ก็เลยชวนโดนัทกับพี่ขวัญ มาทำ พอทำไปทำไม พี่โอ๊ปบอกว่างานเรารวมเป็นวงมันดูแข็งแรงกว่าก็เลยกลายเป็น Indigo ซึ่งส่วนตัวผมโอเคมากๆ อยู่แล้ว
โดนัท : มันชวนผมด้วยคำพูดคำเดียว “อยู่กับกูแล้วรวย” (หัวเราะ)
ขวัญ : ตอนชวนขวัญมันก็พูดแบบนี้ (หัวเราะ)
โชว์แรกในนาม Indigo
บลู : เป็นงาน Move Live เป็นงานเปิดตัวค่าย ซึ่งเราตื่นเต้นมาก แล้วก็มีเพลงโชว์คือ “ยังคง” เพลงเดียว มันเป็นเพลงแรก ไม่มีคนรู้จัก เราต้องทำเต็มที่ ทำยังไงให้คนรู้สึกได้ว่านี่เป็นเพลงของเรา เป็นโจทย์ที่ยากและเป็นเวทีที่ตื่นเต้นมาก
ขวัญ : ตอนนั้นศิลปินอื่น อย่าง “เอิ๊ต ภัทรวี” “พี่แหนม รณเดช” เขาก็มีแฟนคลับมีผลงานอยู่แล้ว เราเป็นวงใหม่ที่ขึ้นไป มันกดดัน แล้วก็ท้าทาย
ใช้เวลาอยู่นานก่อนจะได้รับการตอบรับ
โดนัท : จริงๆ ตั้งแต่ Single แรก ถึงเพลงที่ 4 งานของ Indigo มีไม่ถึง 10 งาน เป็นเวลา 3 ปี ด้วยความที่ตอนนั้นเพลงไม่ได้เป็นที่รู้จักมาก เราก็เลยไม่ได้กดดันในการทำงานอะไรมาก คือเราเล่นดนตรีอาชีพอยู่ทุกวันอยู่แล้ว จนกระทั่งพอเราต้องเล่นเพลงตัวเอง แล้วยังไม่เป็นที่รู้จักมันก็จะกริบๆ นิดนึง แต่เรารู้สึกดีที่ได้เล่นเพลงตัวเอง ดีที่มีโอกาส มีพื้นที่ให้เราเล่น
บลู : คราวนี้หลังจากนั้น พอเพลงมันไม่ดัง มันจะเริ่มนอยด์ เริ่มเหนื่อย เริ่มท้อบ้างแล้ว แต่เราก็ต้องทำต่อไป เราเป็นนักดนตรี ก็ทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว
ขวัญ : พวกเรามี Routine ในการออกไปเล่นเพลงคนอื่น แต่เรารู้สึกดีกว่า ที่ได้เล่นเพลงตัวเอง เพราะเวลาไปเล่นกลางคืน คนมาเที่ยวก็ไม่ได้สนใจพวกเราอยู่แล้ว ก็มาดื่มเหล้า ร้องฮุคจบ พอเราได้เล่นเพลงตัวเองมันเติมพลังกลับมา ทำให้อยากเล่นดนตรีต่อ แม้เพลงจะไม่ดังก็ตาม
“ถ้าฉันเป็นเขา” กับชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
บลู : จากที่เล่นกลางคืน คราวนี้ไม่ได้เล่นแล้ว ตัดออกไปได้เลย ไม่มีเวลา เวลาเข้าบ้านยังไม่มี (หัวเราะ) จนต้องใช้ชีวิตบนรถตู้ อยู่ในโรงแรมกับสองคนนี้ แรกๆ มันสนุกนะ ได้ทัวร์ เดินสาย หลังๆ เริ่มเครียดเพราะว่า เหนื่อย แทบไม่ได้พัก อยู่บนรถตู้แทบไม่ได้คุยกัน เพราะคุยกันเยอะเกินไป (หัวเราะ) มันมีความจำเจอยู่ แต่โชคดีที่สถานที่เล่นเปลี่ยนตลอดทำให้เราได้เจอผู้คนใหม่ๆ
โดนัท : พอเพลงมันดัง งานก็เข้ามาแบบถาโถม เราต้องปรับตัวไม่ใช่การใช้ชีวิต แต่รวมถึงโชว์ด้วย ในช่วง 3 เดือนแรกที่ทัวร์เราต้องเปลี่ยน List เพลงทุกวัน เรามีแค่เพลง “ถ้าฉันเป็นเขา” ที่คนรู้จัก หรือ “แค่เราไม่ได้รักกัน” ที่คนคุ้นๆ จะทำยังไงให้คนสนุกกับโชว์ ตอนนั้นเรามีเพลงแค่นี้ แล้วเล่นเพลงคนอื่นทั้งหมด ต้องทำยังไงให้คนอยู่กับเราได้ 1 ชั่วโมง นอกจากคุยสคริปต์เพลง ก็ต้องทำเพลงใหม่ระหว่างนั้นด้วย คือเราต้องคุยกันเยอะ แทบ 24 ชั่วโมง จนไม่รู้จะคุยอะไรในช่วงหลังๆ
ขวัญ : พวกเราเติบโตจากการเป็นนักดนตรีกลางคืน แต่ตอนนั้นเรามีเพลงดังเพลงเดียว เราจะทำยังไงให้คนรู้ว่า นี่คือวง Indigo ที่ไม่ใช่วงเล่นกลางคืน หรือวง เสียงร้องเหมือน แล้วด้วยความที่บลูเป็นมือกีตาร์มาก่อน เราเข้าใจเขาเลยว่า การเปลี่ยนบทบาทมาเป็นฟรอนท์แมนโดยอัตโนมัติ ทั้งร้อง ทั้งเล่น เอ็นเตอร์เทน มันหนักมากพอสมควร
บลู : มันท้าทายมากครับ ก่อนหน้านี้ผมเล่นกีตาร์ ร้องเพลงบ้าง คือมีสกิลร้องเพลงระดับนึง แต่พอมาเป็นแบบนี้มันทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องพยายามต่อไป เพราะมันมาแล้ว เราเลือกแบบนี้ ต้องทำให้ได้ มันไม่มีเวลามานั่งคิดหรือท้อ เราแค่ต้องทำให้ได้ เพื่อให้โชว์ดีที่สุด ซึ่งโชคดีที่วงเรามีงานเยอะ ก็ช่วยให้ผมดีขึ้นเรื่อยๆ
โดนัท : ณ ขนาดนั้น โอกาสมันมาแล้ว ไม่พร้อมก็ต้องพร้อม ใน 3 ปี แรกเราแทบไม่มีงาน เราโอดครวญ อยากจะมีงานเล่น จนวันนึงมันเปลี่ยนมาเป็นเดือนนึง เล่นทุกวัน เราก็คิดว่า เนี่ยมันมาแล้ว ถ้าไม่ทำให้เต็มที่ 3 ปีที่เราโอดครวญว่าไม่มีงานเล่นมันก็จะเสียเปล่าไปเลย เพราะฉะนั้นในทุกโชว์ที่เราเล่น เราจะคิดว่ามีโอกาสเล่นให้คนดูได้ครั้งเดียว เพราะถ้าเราเกิดเล่นไม่ดีขึ้นมา ครั้งนั้นอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วไม่ได้กลับมาอีกก็ได้ คนดูอาจจะไม่ได้อยากดูเราอีกแล้ว
การเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น
บลู : ก็ทำให้รู้ว่าโดนัทเข้าห้องน้ำเก่ง วันนึงมี 10 รอบ (หัวเราะ) จนคุยกันว่า ไปหาหมอมั้ย
ขวัญ : ซึ่งตรงข้ามกับขวัญ อยากจะแลกกันเหลือเกิน (หัวเราะ) แต่เราก็ได้เห็นมุมที่ต่างออกไป อย่างบลู คนอาจจะมองว่า ไม่ค่อยสนใจคนอื่น แต่จริงๆ แล้วบลูค่อนข้างเป็นห่วงคนอื่น แต่ไม่ชอบแสดงออก อย่างมีช่วงที่ขวัญเสียใจ มันก็จะไม่ได้มาปลอบแบบ เป็นไงบ้าง แต่จะบอกว่า “เจ๊ไปแด…ข้าวไป เดี๋ยวก็ดีขึ้น” (หัวเราะ) จะเป็นสไตล์นี้ เหมือนไม่ค่อยคิดอะไร แต่มันคิดตลอดเวลา ส่วนโดนัทเขาจะเป็นกึ่งกลางของขวัญกับบลู คอยตะล่อม อยู่ตรงกลาง ทั้งพาร์ทชีวิตและดนตรี ก็เป็นคนใส่ใจในหลายเรื่อง
บลู : ส่วนพี่ขวัญนี่เป็นพี่สาวที่ดี เป็นคนที่อายุเยอะที่สุดในวง (หัวเราะ) ก็ดูแลน้องๆ คอยตักเตือน
โดนัท : ในมุมการทำงาน ความเป็นผู้หญิง ผู้ชาย มันจะมีการ Conflict กันบ้าง แต่วงเราจะมีตรงกลาง ให้เกียรติบ้าง (หัวเราะ) คือมันสามารถรวมกันได้ ต้องทำงานร่วมกัน บางครั้งเราก็ต้องคิดในมุมที่เขาเป็นผู้หญิงนิดนึง ก็ต้องให้เกียรติ
ขวัญ : เอาจริงหนูเป็นคนขี้น้อยใจ ถ้าไม่รู้จักกันมานาน น่าจะวงแตกไปนานแล้ว (หัวเราะ)
ช่วง Covid และกราฟชีวิตขาลง
บลู : ช่วงนั้นเราทำเพลง “พัง” กับ “แผล” แล้วลางสังหรณ์เริ่มไม่ดีแล้ว อย่าล็อกดาวน์นะ
โดนัท : ผมจำเหตุการณ์ได้ คือปกติเวลา Indigo บินไปทัวร์เราจะใส่ Mask กันอยู่แล้ว แต่คราวนี้มันเริ่มมีข่าวว่ามีโรคจากอู่ฮั่น ซึ่งเราไม่รู้ว่าคืออะไรตอนนั้น ตอนนั้นเราบินกลับมาจากเชียงใหม่ ภาพที่เห็นที่สนามบินดอนเมืองคือตกใจที่ทุกคนใส่ Mask กันหมด จากนั้นก็เริ่มมี Cancel งานเกิดขึ้น ร้านเริ่มปิด
บลู : งานสุดท้ายไปเล่นในกรุงเทพฯ เล่นกับพี่ๆ วง Zeal จากนั้นก็ประกาศล็อกดาวน์
โดนัท : พวกเราเพิ่งเริ่มตั้งตัวกันได้ เริ่มซื้ออุปกรณ์ดนตรี
ขวัญ : ซื้อบ้าน ซื้อรถ เรากำลังจะตั้งตัว วางอนาคตในชีวิตของเรา
บลู : วงเราเวฟชีวิตมันขึ้นๆ ลงๆ พอขึ้น สักพักก็ลงฮวบ (หัวเราะ) เป็นแบบนี้มา 4-5 ปี จนช่วงโควิดเวฟสุดท้ายที่หายกันไป 2 ปี แรงที่สุด ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปเลย จากที่เราอยู่ด้วยกันต้องทำงานแบบ New Normal แล้วก็ไม่รู้จะทำอะไร เหมือนคนไม่มีจุดหมาย ตัวผมจิตตกเลย ชีวิตจะไปยังไง เงินก็ไม่มี แต่ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องไปหาอย่างอื่นทำ ทั้งขายต้นไม้ หรืออะไรก็ได้เพื่อให้อยู่รอดไปวันๆ
โดนัท : ผมก็จิตตก จนหลังๆ เราก็รู้สึกว่าทุกคนต้องเป็น ก็ต้องโดน ผมเลยต้องปรับตัว มองหาว่าจะทำอะไรบ้างในช่วงนั้น ก็เลยมานั่งทำ Content ในช่วงนั้น เราจิตตกในเรื่องของรายได้ แต่ทุกคนก็โดน
บลู : แต่กับนักดนตรีกลางคืนมันหนักนะ บางคนต้องขายเครื่องดนตรี ออกจากวงการ แล้วไม่กลับมาเลยก็มี
ขวัญ : ส่วนตัวหนูเครียดนะ เพราะเราต้องแบกรับชีวิตของคนในครอบครัวด้วย มันไม่เหมือนช่วง Indigo 3 ปีแรกนะ เพราะตอนนั้น เรายังพอไปหางานเล่นได้ แต่พอครั้งนี้เราทำเพลงได้ แต่ไม่มีงานออกไปเล่น หลายคนคิดว่าเรามีเงินเยอะ เราสบาย แต่มันมีปัจจัยอื่น เช่นค่าห้องซ้อม เงินรายวันในการทำงาน มันพ่วงไปหมด มันอาจจะพออยู่ได้แค่เดือน 2 เดือน แล้วพอคนเห็นก็คิดว่ามีเงิน อย่างนักดนตรีกลางคืน โอเคบางครั้ง ก็มีข้าวกินที่ร้าน แต่พอเป็นแบบนี้ ข้าวก็ไม่มี เงินก็ไม่ได้ จะไปไหนต่อก็ไม่รู้ นักดนตรีจะเอาหัวไปต่อยอดธุรกิจมันยากนะ มันไม่ได้เป็นได้ทุกคน
บลู : ผมเกือบขายเครื่องดนตรีไปแล้ว กีตาร์ Manson ผมไปครึ่งนึงแล้ว (หัวเราะ)
ขวัญ : บางคนเห็นเรางานเยอะแล้วคิดว่ารวย แต่ทุกคนไม่เคยรู้ว่าพวกเราเป็นยังไง วัน Covid บลูกับโดนัท ต้องไปทำงานส่งของ เป็นไรเดอร์ อันนี้เรื่องจริงเลย เรานัดซ้อมกัน เห็น 2 คนนี้มันกลับมาแบบเหนื่อยมากๆ พวกเรายังมีอะไรที่อยู่ข้างหลังเหมือนทุกคน เราแค่โชคดีที่ยังเป็น Indigo อยู่
โดนัท : ถ้ามองในมุมที่ดีเราก็ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ได้เรียนรู้ชีวิตอย่างพอเราไปเป็นไรเดอร์ส่งของ เราเลยรู้ว่าทำไมเขาต้องมีกำหนดเส้นทาง เพราะผมกับบลู ลองขับแบบมั่วๆ เหนื่อยมาก ขับข้ามไป ข้ามมา เสียเวลามากในการหาบ้านแค่ 1 หลัง (หัวเราะ) ทำให้เรารู้ว่าไม่ได้มีอาชีพไหนง่าย
การกลับมาอีกครั้งด้วยเพลง “เส้นบางบาง”
บลู : อันนี้ผมไม่ได้โม้นะ แต่ผมรู้ว่าเพลงนี้มาแน่ๆ ตั้งแต่เห็นเนื้อเพลงครั้งแรก มันดูเป็น Indigo สไตล์แบบอกหัก เราพอจะเดาได้ว่าเวฟมันจะขึ้นมา เลยไม่ได้กังวลมาก ก็คิดว่าเราจะใช้ช่วงเวลานี้ บูสต์ตัวเองขึ้นมาใหม่ เรื่องของแฟนคลับ โซเชียล ซึ่งตอนนี้มันก็ขึ้นเป็นกราฟที่คงที่ มันดีมากๆ ทำให้เรามีงาน มีรายการ ถ้าไม่มีเพลงนี้ ก็อาจจะไม่มีเรา Indigo ในตอนนี้
โดนัท : ผมเป็นคนที่ฟังเพลงศิลปินคนอื่น แล้วชอบไปดูเครดิตเบื้องหลัง ตอนนั้นผมสะดุดกับเพลงพี่ป๊อบ ปองกูล ชื่อแพลง Happy Ending ผมฟังแล้วผมร้องไห้เลย ซึ่งผมไม่ได้อกหักนะ ผมหลับตานอนฟังแล้วเพลงนี้รันมา ซึ่งเนื้อเพลง โดนทุกประโยค ผมเลยไปค้นเลยว่าใครเป็นคนเขียน แล้วก็มีชื่อ อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์ ก็ไปหาดูว่าเป็นใคร ก็เห็นเครดิตว่าเขาเขียนเพลงให้คนอื่นเยอะมาก
บลู : คราวนี้ผมเห็น พี่แอ้ม มาแต่งเพลงให้พี่ๆ ETC. เพลงเข้าข้างตัวเอง ซึ่งพวกผมเอาเพลงนี้มา Cover กัน ผมชอบเพลงนี้เพราะพอเอามาร้องมันเข้าปาก แล้วเริ่มสะดุดว่าใครเป็นคนแต่ง ซึ่งโดนัทก็บอกว่าเป็นพี่แอ้ม
ขวัญ : แล้วก็เป็นดวงของเรา ช่วงนั้น PR ที่เข้ามาในค่ายเป็นเพื่อนกับพี่แอ้ม แต่ก่อนหน้านั้นก็จะไปปรึกษาพี่โอ๊ป
โดนัท : คือเรารู้จากพี่โอ๊ปว่าพี่แอ้ม เขียนเพลงให้ ETC. แล้วคราวนี้ ตอนนั้นมี Clubhouse อยู่ๆ พี่โอ๊ปก็ดึงพี่แอ้มเข้ามาคุย แล้วผมส่วนตัวอยากรู้จัก พอจบจาก Clubhouse ผมก็เลย DM ใน IG ว่าชอบเพลง Happy Ending ชอบภาษาที่เขียน แล้วก็บอกว่าเพิ่งคุยกับพี่แอ้มใน Clubhouse ซึ่งหลังจากนั้นก็ กว่าพี่แอ้มจะตอบก็ทิ้งไปประมาณ 3 เดือน (หัวเราะ) เพลงนี้หลายคนก็ไม่รู้ว่าพี่แอ้มแต่ง ด้วยความที่เขาต้องแต่งเพลงให้ผู้ชายร็อคแบบฟูมฟาย เพราะปกติเขาแต่งแบบ T- Pop อกหักน่ารักหน่อย
ขวัญ : แล้วก็แต่งยาก เพราะถ้าตีโจทย์ผิดมันจะเป็นอีกเรื่องทันที แชร์ยาก ฟังยาก
บลู : คนมีแฟนแล้วแชร์ไม่ได้เลย (หัวเราะ)
อัลบั้มเต็มที่บ่งบอกการเดินทาง
ขวัญ : ในอัลบั้มของพวกเราถ้าคนฟังแต่เพลงจะไม่เห็นไดอารี่ของพวกเรา ซึ่งเราอยากให้ดูข้างในเพราะตอนที่เราเขียนไดอารี่ในอัลบั้มนี้ พวกเรา 3 คนช่วยกันเขียน แล้วส่งให้พี่ๆ ที่ค่ายดูว่า เรื่องราวที่เรารู้สึกตลอดการเดินทางเป็นแบบนี้ มันไม่ใช่แค่เพลง มันบันทึกการเดินทางของพวกเรา รูปสวยๆ ที่ทุกคนเห็น อาจจะยังไม่ได้รู้จนกว่าจะได้อ่าน ข้างใน
โดนัท : ผมเห็นแล้วมีไฟอยากทำอัลบั้มที่ 2 ต่อทันที (หัวเราะ) ยังไงก็ขอฝาก Indigo กับทุกคนต่อจากนี้ด้วยครับ
สมาชิก Indigo
บลู พสิษฐ์ เอกวิไชยภัสร์ (ร้องนำ-กีตาร์)
ขวัญ ขวัญชนก พันธุระ (เบส)
โดนัท กานต์ชนก ม่อมพะเนาว์ (กลอง)