Dynamo
ย้อนกลับไปเกือบ 20 ปี อาจจะฟังดูนานสักหน่อย หากใครยังจำกันได้ วงการเพลงเมืองไทยยังคงผูกขาดด้วยค่ายเพลงใหญ่ๆ ไม่กี่ค่าย ซึ่งนั่นหมายความว่าพวกเขาสามารถกำหนดทิศทางของแนวดนตรี รวมถึงทิศทางของซาวด์และเสียงดนตรีไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งการที่จะแหวกรูปแบบเดิมๆ ทำนองเดิมๆ รวมถึงซาวด์กีตาร์ที่เป็นมาตรฐานไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถ้าใครคิดจะทำแบบนั้นก็ต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองทำ ต้องมั่นใจในตัวเองในระดับสูงมากๆ และแน่นอนว่ากำแพงใหญ่ กรอบเดิมๆ ของดนตรีบ้านเรา ถูกทำลายลงอย่างราบคาบ ด้วยวงดนตรีร็อคที่ชื่อว่า Silly Fools เนื้อเพลงที่มีเอกลักษณ์ เสียงดนตรีที่เกรี้ยวกราด มีพลัง ไม่มีวงไทยวงไหนในขณะที่มีเสียงแตกคำรามได้มีพลังเท่าวงดนตรีวงนี้อีกแล้ว และในปัจจุบัน แม้ว่าจะผ่านมากี่ปีแล้วก็ตาม คำพูดที่คนสนใจดนตรีพูดเป็นเสียงเดียวกัน นั่นก็คือเพลงของ Silly Fools ทำไมถึงฟังได้ไม่เชย นี่คือเรื่องราวของผู้ที่เป็นตัวจักรสำคัญของวงดนตรีวงนี้
The Master
จักริน จูประเสริฐ เป็นชื่อของมือกีตาร์ของวง Silly Fools ต้น คือชื่อที่เราเรียกเขาแบบสั้นๆ และตัวเขาก็เป็น “ต้น” น้ำแห่งเสียงกีตาร์ร็อคของบ้านเรา ในวันที่ทุกคนรู้จักเอฟเฟ็กต์เสียงแตกไม่กี่แบบ องค์ความรู้ในการอัดให้กีตาร์ออกมา มีพลัง และดุดัน ยังมีไม่มาก ซาวด์กีตาร์ของพี่ต้นมีความพิเศษกว่าธรรมดา มันมีเสียงแตกที่เต็มพลัง หนักหน่วงแต่ไม่ได้แตกพร่า การอัดกีตาร์แบบทับไลน์ ที่ตอนนั้นไม่ค่อยมีคนรู้ แกทำให้เด็กๆ ที่เล่นกีตาร์หลงใหล รวมถึงแนวทางการเล่นกีตาร์ ที่มีความเฉพาะตัว การเล่นริฟฟ์ การเล่นโซโล่ที่ครบเครื่อง รวมถึงความรู้เชิงลึกในแง่ของซาวด์เอ็นจิเนียร์ ทำให้เขากลายเป็นมือกีตาร์ที่ทุกคนพูดถึงมากที่สุดในยุคนั้น จนปัจจุบันหลายคนที่ต้องการซาวด์กีตาร์ร็อคที่มีพลัง ยังต้องเข้าไปขอคำปรึกษาอยู่ตลอด ดังนั้นนี่คือมือกีตาร์คนไทยที่เราจะข้ามไม่พูดถึงไม่ได้ เราจะมาวิเคราะห์ การเล่นและรวมถึงส่วนอื่นๆ ของเขาด้วย
Instrument Of Ton Silly Fools
แล้วอะไรล่ะที่เป็นอาวุธลับในซาวด์กีตาร์ของ Ton Silly Fools นี่อาจจะเป็นสิ่งที่คนอยากรู้ที่สุด หลังจากที่เราได้เคยไปพูดคุยในเรื่องซาวด์ของแกมาแล้ว เราถึงได้ทราบว่าอาวุธลับของเขาคืออะไร
Gear : แม้จะเกริ่นให้ดูน่าสนใจ แต่สิ่งที่เป็นอาวุธลับของพี่ต้นจริงๆ ก็คือความรู้ด้านซาวด์และอุปกรณ์นั่นเอง เพราะพี่ต้นจะมีกีตาร์ทั้งแบบ Humbucker ที่เป็น Custom Shop (Zith Guitar) Dean
ในขณะที่ก็พวก G&L ที่แตกต่างกันออกไปด้วย อุปกรณ์ที่เป็นเอฟเฟ็กต์ก็มีไม่เยอะ แต่ที่น่าสนใจและน่าจะเป็นอาวุธลับของเขาได้ นั่นก็คือ Tube Screamer
ที่พี่ต้นจะมีการโมด์ฯ ชิพ ที่เป็นวงจรเอฟเฟ็กต์ด้านใน ซึ่งอาจจะเป็นจุดนึง แต่อย่างที่เราได้กล่าวไป เขามีความรู้ด้านซาวด์ด้วย ทำให้สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะกับ สถานการณ์นั้นๆ เพลงนั้นๆ ความเข้าใจในเสียงของอุปกรณ์ และเข้าใจคาแร็กเตอร์ของอุปกรณ์ สิ่งนี้แหละที่เป็นอาวุธลับที่แท้จริง
Play
เอาล่ะมาถึงจุดสำคัญก็คือการเล่นกีตาร์ในแบบ ต้น Silly Fools การเล่นของเขามีสไตล์ที่เป็นร็อค ที่มักจะเน้นที่สัดส่วนของ Rhythm ไม่ว่าจะเป็นการเล่นริฟฟ์ หรือโซโล่ ดังนั้น มันจะมีความรู้สึกที่เป็น Syncopation รู้สึกขัดๆ นิดๆ ในการเล่นกีตาร์ในสไตล์ของเขา ซึ่งสามเพลงที่เราจะนำมายกตัวอย่าง เป็นแนวทางเด่นๆ ที่ เขามักจะเล่นอยู่เป็นประจำ เป็น Signature ของตัวเองก็ว่าได้ และนี่คือ 3 เพลงนั้น
เพลงดังเพลงนี้เป็นตัวอย่างของการเล่นริฟฟ์ในสไตล์ Silly Fools เริ่มจากการตั้งสาย ที่มักจะตั้งโดยลดทุกสายครึ่งเสียง และสาย 6 เป็น 1 เสียงครึ่ง ทำให้เวลาเล่นริฟฟ์ เสียงจะหนักแน่นมากขึ้น ลำดับถัดมา เราลองดูในท่อน Pre Hook จะเห็นแนวทางหนึ่ง ก็คือการเล่นริฟฟ์ในลักษณะของโน้ตในคอร์ด แยกออกมาเล่นแบบ Single Note และผสมกับไลน์กีตาร์ที่มีการสไลด์โน้ตด้วย ทำให้เพิ่มความน่าสนใจมากขึ้น รวมถึงคอร์ดที่ใช้กับการเล่น Power Chord จะเป็นลักษณะของคอร์ด Add9 คือขยายความจาก Power Chord โดยที่หากเราจับ โน้ตตัวสุดท้ายจะเป็นตัวที่ 5 ของ Root แต่คราวนี้เราจะเพิ่มตัวที่ 9 ซึ่งหลักๆ จะห่างจากตัวคู่ 5 ออกไป 1 เฟร็ต ในคนละสายกัน ทำให้ได้ซาวด์คอร์ดที่ลึกขึ้น เมื่อเล่นผสม Drive กับ Modulation จะทำให้ได้ซาวด์ที่ลึกและแน่นขึ้น นั่นคือการเล่นคอร์ด Rhythm สไตล์ Silly Fools
เราจะได้อะไร : สิ่งที่เราจะได้จากเพลงนี้ก็คือไอเดียในการเล่นริฟฟ์ธรรมดาจากพวก Power Chord ให้ได้ซาวด์ที่น่าสนใจมากขึ้น แทนที่เราจะเล่นคู่ 5 ธรรมดา การเติมโน้ต 9th ทำให้เราสามารถสร้าง Tension ของคอร์ด และเมื่อเอามากระจาย เพื่อเล่นเป็นไลน์ จะทำให้เราผสมโน้ตต่างๆ ลงไปได้มากขึ้น นี่เป็นแนวทางการสร้างกำแพงริฟฟ์ที่น่าสนใจมากๆ
อีกอย่างก็คือการสร้างโซโล่ต่างๆ สร้างดนตรีจากส่วน Compound Time อย่าง 6/8 ซึ่งมีหลายเพลงที่เกิดจาก Time Signature นี้ วิธีการนับของส่วนนี้ จะนับเป็น 1 และ และ 2 และ และ โดยจะเน้นที่ 1 กับ 2 คราวนี้ในโซโล่เพลงนางฟ้า ก็เป็นแนวทางการสร้างโซโล่ในส่วน 8 ของเขา เพลงนี้เริ่มจากการเล่นด้วยโน้ตปกติ และคันโยก วิธีที่เขาเล่นบ่อยอีกวิธีก็คือ การเล่นคอร์ดค้างไว้ในเฟร็ตลึกๆ แล้วดีดทีละตัวคล้ายๆ Picking ในเสียง Gain และผสมกับการเล่นคันโยก เช่นเดียวกับการดันสาย ที่จะมีการดันแบบ Pre Bend การหยุดจังหวะโน้ต คราวนี้การ Run ด้วย Pentatonic การเล่น Interval และการเล่นสไลด์โน้ต เป็นการสร้างสำเนียงแบบส่วนตัว ที่ขาดไม่ได้ก็คือความแบ่งโน้ตใน Time Signature ที่ไม่ปกติ ลองดูท่อนท้ายที่เป็น 9/8 ผสมกับ 8/8 จะต้องนับเป็น 1 และ และ 2 และ และ 3 และ และ ใน 9/8 และใน 8/8 จะเป็น 1 และ และ 2 และ และ 3 และ ซึ่งลองสังเกตโน้ตที่เขาใช้จะแบ่งเป็นชุดๆ ไว้ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้การเล่นกับ Time Signature แปลกๆ ได้จากเพลงนี้
เราจะได้อะไร : สิ่งที่ควรศึกษาก็คือแนวทางการเล่น Lick ต่างๆ ในสัดส่วนผสมแบบนี้ ลองดูวิธีการ แบ่งกรุ๊ปโน้ต ให้ง่ายต่อการนับ และไม่งง เวลาเล่นจริง ถ้าลองฝึกเล่น ในท่อนนี้ ให้สังเกตวิธีการแบ่งกรุ๊ปโน้ต และเมโลดี้ในกรุ๊ปโน้ตนั้นๆ จะได้อะไรจาก การเล่นเพลงนี้มากทีเดียว
ความเร็ว เป็นจุดเด่นที่ตัวเขามักจะปฏิเสธมาโดยตลอด ในเพลงแป๊ะอย่าร้อง ทำให้เราได้เห็นแนวทางการโซโล่เวลาที่เล่นเร็วๆ ของ ต้น Silly Fools เขามักจะใช้การ Run Pentatonic ใช้โน้ตในสเกลนี้มาแตกออกมาเป็น Lick และเวลาที่ Run เร็ว เทคนิคที่ใช้ก็คือ Economy Picking จะไม่ใช่การดีดขึ้นลงทางเดียวแบบ Sweep และ ไม่ใช่การดีดสลับตลอด แบบ Alternate จะเป็นการผสมกันเช่น อาจจะดีด ลง ก่อน ในสายแรก จากนั้นอีก 2 สาย ดีดกวาด ด้วยการดีดขึ้น จบ การดีดลงในโน้ตตัวสุดท้าย เป็นต้น ซึ่ง Lick นี้เวลามาเล่นกับ Pentatonic เมื่อหาทางนิ้วดีๆ จะทำให้เสียงฟังดูไหล และน่าสนใจได้มากขึ้น อย่าง Lick ในท่อนจบ เราสามารถเล่น Economy Picking ในทางนิ้วนี้ได้ แต่ก่อนอื่น ต้องลองศึกษาพื้นฐานการเล่นแบบนี่ก่อน (ลองดู Clip การสอนของ Frank Gambale จะเห็นภาพมากขึ้น)
เราจะได้อะไร : เราจะได้มุมมองใหม่ๆ ในการเล่น Pentatonic ให้ได้เร็วและน่าสนใจมากขึ้น ลองเปลี่ยนทางนิ้วแล้วใส่เทคนิคเข้าไปอีกสักหน่อย ลองฟังการเล่นของ ต้น Silly Fools ดู ที่เราจะได้แน่ๆ ก็คือการฉีก Box พื้นฐานของ Pentatonic และได้ซาวด์จากการเล่นใหม่ ๆ ให้เราลองสังเกตและทดลอง เพื่อให้ได้ทางนิ้วในแบบตัวเอง