จำได้ว่าผมเคยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการประกวดดนตรีไปบ้างแล้ว (ก็คงต้องใช่ เพราะฉบับนี้เป็นบทความครั้งที่ 90 แล้ว อีก 6 ครั้งก็จะครบ 8 ปีที่เขียนคอลัมน์นี้แล้ว) แต่ครั้งนี้ผมเพิ่งผ่านการเป็นกรรมการตัดสินการประกวดดนตรีรอบคัดเลือกของ Imperial Music Awards 2018 ที่ห้าง Imperial World สำโรง ซึ่งในระดับมัธยมศึกษามีวงที่ส่งรายชื่อเข้ามาร่วมประกวดเกือบ 130 วง จนต้องแบ่งการประกวดออกเป็นเวลา 5 วัน โดยเฉลี่ยแข่งวันละ 20 กว่าวง เลยอยากจะเล่าสิ่งที่ได้พบจากการประกวดครั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวประกวดในเวทีต่างๆ ต่อไป
กรรมการที่ร่วมตัดสินรอบคัดเลือกในครั้งนี้ก็มีผม พร้อมด้วยพี่เล็ก ทีโบน และคุณโบ๊ท ผู้ซึ่งมีบทความในกีตาร์แม็กด้วย จะขอเล่าบรรยากาศโดยรวมๆ ก็แล้วกันนะครับ ในรายการนี้นั้น เป็นครั้งแรกที่ผมร่วมเป็นกรรมการคัดเลือก อันดับแรกที่ผมเห็นก็คือรายการนี้เป็นรายการที่เปิดกว้างสำหรับวงดนตรีทุกวง เพราะไม่มีการให้ส่งคลิปการเล่นมาเพื่อคัดกรองวงก่อน นั่นแปลว่าใครอยากมาเล่นในรายการนี้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม สามารถมาขึ้นเวทีได้เลย ซึ่งต่างจากประเภทที่ต้องส่งคลิปการเล่นมาก่อนคือ
1.การส่งคลิปมาพื่อคัดกรองขั้นที่หนึ่งนั้น วงที่ไม่ได้ถูกคัดมาให้แสดงบนเวที จะไม่รู้เลยว่าที่ถูกคัดออกเป็นเพราะสาเหตุใด ซึ่งแน่นอนครับ ไม่มีการแจ้งสาเหตุอยู่แล้ว ซึ่งก็พลาดการได้รับการ Comment เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข
2.มีความหลากหลาย ผู้เข้าประกวดเองก็ได้เห็นว่าวงที่มีความพร้อม เค้าเล่นบนเวทีกันอย่างไรบ้าง ได้คำแนะนำอะไรกันบ้าง
3.ประสบการณ์การเล่นบนเวทีเป็นอย่างไร พบปัญหาอะไรบ้าง แก้ไขสถานการณ์กันอย่างไร เป็นต้นสิ่งที่มักพบเจอบนเวทีประกวดครั้งนี้ ผมพบว่าการตั้งสายทั้งกีตาร์และเบส ยังเป็นปัญหาสำหรับการประกวดอยู่บ้าง อาจจะด้วยกีตาร์หรือเบสไม่ได้ถูกตั้ง Intonation ที่ถูกต้องมาก่อน หรือแม้กระทั่งการที่นักดนตรีเองยังฟังเสียงที่มันผิดเพี้ยนไปยังไม่สามารถแยกออกอย่างรวดเร็ว (อาจต้องฝึกเรื่อง Ear Training เพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยได้มาก) ซึ่งในช่วงระหว่างที่วงยังมีเวลา Sound Check บนเวทีก่อนที่จะเริ่มเล่นเพลง มันคือนาทีทองที่จะตรวจสอบความผิดพลาดของสาย หรือแม้กระทั่ง ตรวจเช็กความดังเบาของเครื่องดนตรีต่างๆ บนเวที และตรวจสอบมอนิเตอร์ว่าเสียงต่างๆ นั้นเข้าที่เข้าทางที่เราได้ยินเพื่อนร่วมวงได้อย่างชัดเจนหรือไม่ หรือแม้กระทั่งการซ้อมท่อนที่คิดว่าน่าจะตรวจสอบอีกสักรอบก่อน ซึ่งทุกอย่างที่กล่าวมา บางวงก็ทำครบ บางวงก็ทำไม่ครบ ซึ่งอันนี้ก็ถือเป็นประสบการณ์อันดับแรกๆ ที่ต้องเจอกันทุกวง สิ่งที่ได้จากการซาวด์เช็กก็คือเราจะหาจุดลงตัวของเสียงที่เกิดขึ้นบนเวทีที่เรียกว่า Sound Balance และมันยังทำให้เราสามารถเดาหรือกะระยะของความดังของเสียงแต่ละเครื่องมือได้อย่างแม่นยำด้วย บางวงก็เล่นไปทั้งที่สายยังเพี้ยนอยู่ ซึ่งเราก็เฝ้าดูว่าจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ไหม บางวงก็เห็นความพยายามในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างเล่น บางวงก็อาจมีประสบการณ์ไม่มากพอ อันนี้พวกเราก็แนะนำเทคนิคและวิธีการให้นำไปปรับปรุงกันต่อไป
ต่อมาที่เราพบเจอหลังจากนั้น ซึ่งจะต้องมีปัญหานี้แทบทุกวันตลอด 5 วันที่ผ่านมา คือปัญหาการเลือกเพลงมาประกวด เช่นเอาเพลงผู้ชายมาให้ผู้หญิงร้อง แล้วไม่ได้ปรับคีย์ให้เหมาะกับตัวนักร้องของวง การร้องท่อนที่เป็นเสียงค่อนข้างต่ำก็ยากลำบากสำหรับผู้หญิงยิ่งนัก เพราะจะกดเสียงลงให้ต่ำมันยาก และเป็นไปไม่ได้สำหรับหลายๆ คน ยกเว้นผู้หญิงที่มีพื้นฐานเสียงที่สูงจริงๆ ก็สามารถร้องคีย์ผู้ชายได้อย่างไม่มีปัญหา (แต่ส่วนใหญ่มี) ก็ต้องถามว่าตอนซ้อมในห้องซ้อมได้คุยปัญหานี้กับเพื่อนร่วงวงหรือไม่ บ้างก็ตอบว่ามันยากสำหรับการเปลี่ยนคีย์ของนักดนตรี ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เข้าใจได้ บางทีมันมีตำแหน่งการเล่นเฉพาะที่บนคอกีตาร์ แต่วงทำร้ายนักร้องไปโดยไม่รู้ตัว เหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดกับเพลงผู้หญิงที่ผู้ชายต้องนำมาร้องด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่คีย์ที่เหมาะกับ Range เสียงกันอยู่แล้ว บางวงก็นำเพลงผู้ชายมาร้องคู่กับนักร้องหญิงโดยที่ยังเล่นในคีย์เดิม ผู้หญิงก็จะร้องด้วยโทนเสียงที่ค่อนข้างต่ำ บางท่อนถึงกับฟังไม่รู้เรื่องเลยก็มี เนื่องจากเสียงไม่สามารถทะลุผ่านดนตรีออกมาได้ ปัญหานี้ต้องได้รับการหาคีย์ที่เหมาะกับนักร้องของวง จะได้ทำหน้าที่ได้เต็มที่ ซึ่งความไม่สมบูรณ์ของเสียงร้องมันก็ทำให้เพลงไม่น่าฟัง ถึงแม้ภาคดนตรีจะเล่นได้ดีเพียงใดก็ตามอีกเรื่องหนึ่งก็คือแม้ว่านักร้องทำหน้าที่ได้ดี คีย์เหมาะสม ใช้เทคนิคการร้องที่ดี เข้าใจอารมณ์ของเพลง แต่ภาคดนตรียังเล่นสนับสนุนได้ไม่ดีพอ โดยเฉพาะภาค Rhythm Section มันก็แสดงความสมบูรณ์ทั้งหมดออกมาไม่ได้ ซึ่งก็ต้องถือว่ามีความไม่สมบูรณ์ของการแสดงทั้งวง ซึ่งหลายๆ คนยังคงมองแค่มุมใดมุมหนึ่งด้านเดียว เช่นวงเล่นดีมากๆ เก่งกว่าวงอื่นๆ อีก ทำไมไม่เข้ารอบชิงชนะเลิศ หรือในทางกลับกัน นักร้องคนนี้ร้องดีกว่านักร้องวงอื่นๆ ทำไมไม่เข้ารอบชิงชนะเลิศ ซึ่งในความเห็นของผมนั้นการเข้ารอบชิงชนะเลิศมันควรจะเป็นวงที่ค่าเฉลี่ยของระหว่างนักร้องและการเล่นอยู่ในระดับเฉลี่ยใกล้ๆ กัน ไม่เช่นนั้นมันก็ไม่ใช่วงดนตรี บางทีเราก็ไม่ได้เฟ้นหาผู้ที่เก่งที่สุด แต่สรรหาทั้งวงที่ครบเครื่องที่สุด ดังนั้นรางวัลนักดนตรียอดเยี่ยม บางทีก็ได้แก่นักดนตรีที่ไม่ได้อยู่ในวงที่ชนะเลิศ ซึ่งเราก็เห็นกันเต็มไปหมด หรือนักร้องยอดเยี่ยมก็ได้แก่นักร้องที่ไม่ได้อยู่ในวงที่ชนะเลิศก็มีให้เห็นบ่อยๆ
สิ่งสำคัญๆ ก็อยู่ที่การฝึกฝนในการซ้อมของแต่ละเครื่องมือ รวมถึงนักร้องก็ถือว่าเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งในวงดนตรี ทุกอย่างต้องผสมกันให้ได้อย่างลงตัวที่สุด เท่าที่วงดนตรีนั้นๆ จะมีไอเดียมาร่วมกันแชร์ภายในวง การเปลี่ยนเพลงประกวดก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ถ้าเรายังไม่สามารถทำให้มันลงตัวสมบูรณ์ครบทั้งภาคร้องและภาคดนตรี หรือแม้กระทั่งการทดลองปรับคีย์และวิธีการเล่น หากว่ามันจะทำให้ทั้งสองภาคสมบูรณ์ขึ้น ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็เป็นไปตามประสบการณ์ของแต่ละวงดนตรีที่ใช้เวลาเตรียมตัวกันและมีความพร้อมเพียงใด นี่ก็เป็นเพียงปฐมบทของการประกวดดนตรีเท่านั้นที่ต้องคิดก่อนเรื่องได้รางวัลต่างๆ