ขอบเขตแห่งการดีด
การเล่นกีตาร์โดยการเล่น Strum Chord หรือการตีคอร์ดหากใช้ภาษาบ้านๆ ก็คือการเล่นคอร์ดโดยที่มือซ้าย มือขวาจะต้องสัมพันธ์กัน ดีด ขึ้น ลง หยุด จังหวะในการดีด ใช่แล้วแค่การจำคอร์ดให้ถูกต้องแล้วดีดไปพร้อมกันก็ดูยากพอสมควรแล้ว ยังต้องมีการควบคุมจังหวะในการดีดอีก ถ้าหากว่าใครผ่านมันมาได้ เราก็จะเล่นเพลงตามที่เห็นในหนังสือเพลง หรือคอร์ดในเว็บต่างๆ ได้แล้ว แต่เผอิญวันนี้คิดถึงสิ่งที่น่าสนใจได้อย่างนึง เวลาที่เราได้ฟอร์มคอร์ดมา เราอาจจะเห็นใน Tab อาจจะไปเห็นไอ้ที่เป็นจุดกลมๆ จะเห็นว่าถ้ารูปคอร์ดบางคอร์ดมันจะดูว่าต้องจับเต็มไปหมดเลย คำถามที่ตามมาก็คือ เอ๊ะ ในเพลงบอกให้จับคอร์ดนี้ ซึ่งเวลาไปดูรูปคอร์ด โอโห มีโน้ตเป็นพรืดไปหมด ใครจะไปจับทัน ใช่แล้วคุณคิดถูกแล้วครับ แม้แต่ตัวศิลปินเองเขาก็ไม่จับคอร์ดเต็มๆ ทุกตัวโน้ตหรอกครับ อ้าวแล้วเขาจับคอร์ดอะไรกันยังไงล่ะ เอาล่ะวันนี้เราจะมาบอกวิธีการเล่นง่ายๆ ให้ได้เสียงแบบมืออาชีพกันครับ
คำเตือน : ถึงตรงนี้คุณจะต้องพอจับคอร์ดพื้นฐานได้บ้าง จะทำให้มองเห็นภาพได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญอยากจะให้ลองจับคอร์ดแบบเต็มๆ รูปแบบให้ได้ก่อน สรุปก็คือพยายามจับคอร์ดตามที่มาตรฐานกำหนดให้ผ่านซะก่อน รู้กฏก่อนที่จะแหกกฏ คือวิถีทางของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่
Living In The Edge
เอาล่ะเราจะมาดู กันว่าเราควรจะจับคอร์ด อย่างไร ให้มันดูเล่นง่าย มีเหตุมีผลในการจับ และได้เสียงที่เหมาะกับตัวเพลงนั้น ผมจะยกตัวอย่างให้เห็นในคอร์ด 2 ประเภทใหญ่ๆ ก่อน นั่นก็คือคอร์ดเบสิกฟอร์มกับบาร์คอร์ด
Ex.1 เริ่มจากเบสิกฟอร์มที่เราคุ้นเคยกันของคอร์ด อย่าง C-Am-Dm-G ถ้าเราจับคอร์ดเราจะเห็นว่ามันจะมีสายกีตาร์ที่เหลือที่ไม่ได้จับอยู่ (ในวงเล็บ)
Ex.2 ปัญหาใหญ่ของคนเล่นกีตาร์ใหม่ๆ นั่นก็คือเวลาดีดจะดีดไปทั้ง 6 สายเลย ซึ่งในความเป็นจริงขอบเขตในการดีดจะอยู่แค่ไม่กี่สาย ลองดูใน Tab ว่าจะต้องดีดโดนโน้ตตัวไหนบ้าง และพยายามอย่าดีดโดนสายไหน (ในวงเล็บเป็นโน้ตที่เราต้องดีดให้โดน ส่วน X เป็นสายที่เราไม่ต้องการเสียงของมัน) ดังนั้นเราต้องบังคับมือข้างที่ดีดดีๆ
Ex.3 พอเราแยกได้ดังนั้น เราจะเห็นว่าโน้ตในแต่ละคอร์ดที่ควรจะเลือกมาเล่น ขอบเขตในการดีด คือกี่สาย และผ่านโน้ตตัวไหนบ้าง ลองเอาไปฝึกกันดู นี่เป็นขอบเขตที่เหมาะสมที่จะเล่นจริง เพื่อไม่ให้เสียงรกมากเกินไป (ทั้งนี้ทั้งนั้นลองทดลองดูเองด้วยว่าชอบซาวด์แบบไหน เช่นคอร์ด G บางทีคุณอาจจะชอบเสียงเต็มๆ ของมันก็ได้)
คราวนี้มาที่การเล่นลักษณะบาร์คอร์ดกันบ้าง คอร์ดทาบแบบที่เราเรียกกัน เราจะเห็นว่าคอร์ดแบบนี้เวลาเราดูในตำแหน่งการจับจะเห็นตำแหน่งโน้ตเยอะไปหมดแล้วจะจับยังไง เราจะมาดูกัน
Ex.4 เราดูในคอร์ด F-G-Am-C ในลักษณะบาร์คอร์ด นี่คือโน้ตทั้งหมดที่เราต้องจับถ้าจับแบบเต็มรูปแบบ
Ex.5 ถ้าจะเอาแบบง่ายที่สุด การจับบาร์คอร์ด ตามธรรมชาติเวลาดีดจริงๆ เราจะไม่ค่อยดีดสาย 6 กับสาย 1 มักจะดีดไปที่สาย 5-2 มากกว่า ดังนั้นขอบเขตการเล่นจะอยู่ประมาณนั้น เพียงแต่ว่าเวลาเราจับรูปคอร์ด จะต้องยังคงเป็นบาร์คอร์ดอยู่เท่านั้นเอง
Ex.6 เวลาเราเล่นบาร์คอร์ดบางครั้ง เราจะต้องเล่นเป็นสองโซนคือดีด โซนสายบนกับสายล่างผสมกัน ดังนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเวลาเราจับบาร์คอร์ด จะต้องดีดทุกสาย ทุกครั้ง เพียงแต่ต้องมีขอบเขตว่าจะเล่นถึงสายไหนเท่านั้นเอง
Ex.7 คอร์ดทาบ บางครั้งเราก็ไม่ต้องดีดทุกสาย หรือเรียงเป็นสาย ในลักษณะ สาย 5-4-3-2 เสมอไป บางครั้งเราสามารถข้ามไปเป็นสาย 6-4-3-2 ข้ามสาย 5 ไปก็ได้ โดยใช้นิ้วที่บาร์คอร์ด โก่งขึ้นเล็กน้อย เพื่อบล็อคเสียงของสายที่ไม่ต้องการออก โดยที่รูปมือจับยังเหมือนเดิม
Ex.8 และบางครั้งการเล่นบาร์คอร์ด เราอาจจะดีดแค่สาย 6 หรือสาย 5 ผสมกับ 4 สายล่างก็ได้ โดยที่ไม่ต้องดีดทั้งหมด เพียงแต่ยังคงรูปคอร์ดไว้เท่านั้น แต่เมื่อเป็นแบบนั้นการควบคุมการดีดก็จะยากขึ้นเล็กน้อย