จังหวะที่ 2 กับ 4 มีผลอะไรกับมือเบส
ผมนั่งเขียนต้นฉบับเล่มนี้ หลังจากน้ำในหมู่บ้านลดลงจนสามารถเข้าไปทำความสะอาดและพักอาศัยได้บ้างแล้ว จัดเก็บข้าวของ และทิ้งสิ่งที่เสียหายจากน้ำท่วมจนเกินเยียวยาไปก็หลายชิ้น แต่หน้าที่ก็ต้องดำเนินต่อไป ทั้งการทำงาน การสอน และรวมถึงต้นฉบับของคอลัมน์ Bass Time นี้ด้วย จากหลายครั้งที่มีผู้สนใจในดนตรี รวมถึงจากนักเรียนที่ถามถึงการเล่นอย่างไรเพื่อให้ได้สิ่งที่เรียกว่า Feeling หรือการที่เรารู้จักลงน้ำหนักที่เหมาะสมลงไปในตัวเพลง เพื่อเพิ่มความน่าฟังของตัวเพลงนั้นๆ เพิ่มขึ้น หลายคนเข้าใจว่าการที่เรียกว่า Tap Two Four จะอยู่ในดนตรีประเภทแจ๊ซเท่านั้น และต้องตบเท้าแบบนี้ให้ได้ จึงจะสามารถเล่นดนตรีให้ดีได้ แต่ผมอยากจะให้พวกเราลองใช้ตรรกะง่ายๆ ในการเล่นดนตรี ไม่ว่าโดยพื้นฐานของเราจะอยู่ในระดับใดก็ตาม ที่เราสามารถจินตนาการได้มากกว่าต้องใช้วิชาการอย่างเดียว ทุกอย่างอยู่ที่โอกาสในการศึกษา โอกาสในการเล่น ถูกที่ ถูกเวลา ถูกคน หรือแม้แต่ถูกใจ Pattern ปกติที่เราคุ้นเคยกันมา ก็จังหวะพื้นฐานกลองที่ฟังได้ทุกช่วงวัย คือที่เราชอบท่องกันว่า “ตึก โต๊ะ ตึก โต๊ะ” ถ้าวิชาการหน่อยก็ “1 2 3 4” เป็นต้น สังเกตว่าจะมีโต้ะอยู่สองตัว ตัวแรกอยู่ที่จังหวะที่ 2 และตัวที่สองอยู่ที่จังหวะที่ 4 ต่อให้เราไม่ตบเท้า เราก็ต้องรู้สึกว่าตอนท่องคำว่า “โต๊ะ” นั้น เราต้องเน้นน้ำหนักโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว ซึ่งคำว่า “โต๊ะ” นั้นก็แทนเสียงของกลองสแนร์นั่นเอง ส่วนคำว่า “ตึก” นั้นก็แทนเสียงของกระเดื่อง (Bass Drum) นั่นเอง เมื่อมันเป็นแบบนี้ เราจะฝึกดีดเบสให้เน้นน้ำหนักที่ 2&4 ก็จินตนาการไปตามจังหวะกลอง (อาจสร้างขึ้นในใจ หรือเปิด Pattern กลองจริงๆ เลยก็ได้) อาจเริ่มด้วยการเล่นค่าโน้ตตัวดำตามกลองไปเลย (ถ้ากลองแทนที่ด้วยคำว่า “ตึก” กับ “โต๊ะ” เบสก็อาจแทนที่ด้วย “ตู่ง” กับ “ตี้ง”) บอกแล้วว่าผมจะพยายามเล่าให้ฟังด้วยประสบการณ์ที่ใช้ในชีวิตการเป็นคนที่พยายามเล่นดนตรีมา อาชีพอะไรก็ตาม หลายๆ อย่างเราอาจต้องใช้จินตนาการในการกำหนดทิศทางเดินของอาชีพที่ตนเองกระทำอยู่ ถ้าเราลองท่องแบบนี้ ก็จะถูกบังคับให้เน้นที่ 2&4 เหมือนเดิม นี่เป็นตัวอย่างของการฝึกเน้นที่จังหวะ 2 และ 4 โดยไม่ต้องตบเท้าก็ได้ หรือเราอาจจะโยกตัวซ้ายขวาก็ได้ แต่โยนตัวไปที่จังหวะเน้นให้มากกว่าอีกข้างหนึ่งเป็นพอ สรุปคือทำทุกวิถีทางที่จะเข้าใจในธรรมชาติของ 2 และ 4 ให้ได้อย่างธรรมชาติ หลังจากนั้น เราอาจเปลี่ยนความรู้สึกใหม่ โดยไม่ต้องไปเล่นจังหวะ 2 และ 4 ให้เล่นเพียงจังหวะ 1 กับ 3 ถ้าอยู่ในลักษณะนี้ บางทีผมก็เล่น Root ที่จังหวะ 1 และเล่นคู่ 5 ที่จังหวะ 3 เพื่อฟังว่าหลังจากเราได้รู้สึกถึงการเล่นโน้ตที่จังหวะ 2 และ 4 ไปแล้ว แต่ถ้าต้องมาหยุดเล่นบ้าง เราจะรับรู้ถึงแรงส่งของจังหวะทั้งสองนี้ไหม และจะสามารถกะน้ำหนักในการดีดเบสได้อย่างไร ฝึกแบบนี้ เราจะฝึกให้เป็นผู้ฟังและพยายามจับความรู้สึกถึงแรงส่งของเครื่องดนตรีชิ้นอื่น โดยที่เราไม่ได้เล่นเบสที่จังหวะดังกล่าวด้วย (อันนี้เป็นจังหวะพื้นฐาน ผมอยากให้รู้สึกกับจังหวะพื้นฐานพวกนี้ก่อนที่จะไปรู้สึกกับสิ่งที่ซับซ้อนขึ้นไปภายหลัง) ลองเพิ่มจังหวะของกลองให้เป็น 1 2&3 4 แน่นอนครับ Bass Drum เพิ่มมาที่จังหวะยกของจังหวะที่สอง ซึ่งเป็นจังหวะธรรมดาๆ ที่เราได้ยินได้ฟังกันทั่วๆ ไป ไลน์เบสของเราก็ยังคงไม่เล่น 2 กับ 4 อยู่ดี ให้เพิ่มการสังเกตว่าเราจัดการกับสิ่งที่เพิ่มมาด้วยอารมณ์ใดได้บ้าง นี่ไม่ใช่เรื่องของการฝึกให้เล่นถูกโน้ตเท่านั้น เราควรกำหนดไว้ล่วงหน้าด้วยว่าจะเล่นสั้นทั้งหมด หรือยาวทั้งหมด แต่โดยส่วนใหญ่ การฝึกลักษณะนี้จะเล่นเสียงยาวเต็มค่าโน้ตเป็นอันดับแรกๆ จากนั้นค่อยเล่นให้มันสั้นลง จนสามารถสลับการทั้งสั้นยาวสลับกันไป โดยที่มีเสียงของสแนร์ที่จังหวะ 2 & 4 เป็นตัวสร้างความรู้สึกให้กับตัวเราเอง สิ่งสุดท้ายที่จะทดลองก็คือเพิ่มจำนวนค่าโน้ตเข้าไปอีกนิดหน่อย อาจเพิ่มเป็นชุดละสองห้องก็ได้ เช่น (1 2&3 4a1 2 3e&4&) ห้องที่ 1 เบสก็ยังไม่ต้องเล่น 2 และ 4 แต่ห้องที่ 2 เรากลับเล่นเบสเฉพาะ e&4& แบบนี้เป็นต้น (ตามพื้นฐานของเขบ็ตสองชั้นคือ 1 e & a) แบบนี้ยิ่งทำให้เราต้องรู้สึกถึงจังหวะที่เบสไม่ได้เล่นไปด้วย ถึงจะสามารถตอบรับกับอารมณ์เพลงและน้ำหนักของการดีดเบสได้น้ำหนักมากขึ้น
บางครั้งการก้มหน้าก้มตาเล่นอย่างเดียวมันก็ไม่เพียงพอที่จะเล่นกันเป็นวงดนตรี เพราะมันเหมือนกับการสื่อสารคุยกันในวงว่าใครกำลังทำอะไร พูดอะไร ถ้ามีการรับส่งอารมณ์ที่เหมาะสมกันภายในวง คนฟังจะรับรู้ถึงทุกถ้อยคำของโน้ตที่เปล่งเสียงออกมา ทดลองฝึกแบบพื้นบ้านดูบ้าง ใช้ความรู้สึกกับจินตนาการเป็นตัวช่วย แล้วลองสังเกตว่าเราสามารถตอบสนองจินตนาการนั้นได้อย่างไร ขอเสนอไว้เป็นอีกทางเลือกครับ