ปรับเสียงหน้าตู้เบสแบบไหนดี
สวัสดีครับ สำหรับคราวนี้เป็นคำถามที่ได้ยินได้ฟังกันมาตลอดๆ ว่าจะ “ปรับเสียงหน้าตู้เบสอย่างไรถึงจะดี เป็นที่ถูกใจสำหรับตนเองและสมาชิกในวง” ซึ่งถ้าเรามองผิวเผินก็ไม่เห็นว่ามันจะยุ่งยากมากนัก ก็แค่
- ซื้อเบสคุณภาพดีๆ
- ซื้อตู้แอมป์เบสคุณภาพดีๆ
แค่นี้ก็น่าจะเป็นตัวแปรที่สำคัญทำให้เราได้เสียงเบสที่ถูกใจแล้ว ซึ่งความเป็นจริงก็คงถูกเป็นบางส่วน เราลองมานั่งทำความเข้าใจว่าตู้แอมป์ที่เราซื้อมา ไม่ว่าด้วยชื่อเสียงของคุณภาพเสียง หรือว่าซื้อมาเพราะงบประมาณได้เท่านี้ก็ตาม เราควรจะมานั่งดูว่ามันมีอะไรที่ให้เราปรับแต่งได้บ้าง เช่น
- Gain หรือสัญญาณขาเข้า (ที่รับมาจาก วอลลุ่มจากตัวเบส)
- EQ อาจจะเป็น Bass Mid Treble หรือ Bass Frequency Mid Treble (ซึ่งแบบนี้จะมีความถี่ในย่านกลางต่ำ กลาง และกลางแหลม ให้เลือกปรับแต่งได้มากขึ้น)
- Master Volume หรือสัญญาณขาออกเพื่อควบคุมความดังของเสียงแอมป์ที่เราต้องการในขณะนั้นๆ
- สิ่งที่อาจจะมีให้มาอีกก็คือ ช่องเสียบแจ็คสำหรับ Passive หรือ Active Bass อย่างละช่อง หรืออาจมีช่องเดียว แต่มีปุ่มให้กดเลือกสำ หรับชนิดของเบสที่เราใช้งาน
นี่คือสิ่งที่ตู้แอมป์เบสจะให้มาเป็นหลัก อาจจะมีบ้างในรุ่นที่ราคาย่อมเยาอาจมีปุ่มที่เป็นทั้งสัญญาณขาเข้า และขาออกในปุ่มเดียว
โดยส่วนตัวแล้ว เวลาปรับหน้าตู้ ผมจะให้ความสำคัญของสัญญาณขาเข้าของตู้แอมป์เป็นอันดับต้นๆ ถ้าตู้แอมป์นั้นมีหลอดไฟ LED ไว้แสดงเมื่อเราตั้ง Input เยอะเกินไป ไฟก็จะแดงวาบๆ ให้เราได้เห็น จะลองยกตัวอย่างที่ผมจะทำ กับตู้แอมป์เบสให้อ่านกันพอสังเขป
ถ้าเป็น Passive Bass (เบสที่ไม่ต้องใส่ถ่าน)
- เปิดตู้แอมป์
- ปิด Master Volume เสียบแจ็คเข้าช่องสำหรับ Passive Bass
- หมุน Gain ไปจนสุด
- ขณะที่ตัวเบสเปิด Volume สุด ดีดเบสด้วยน้ำหนักการเล่นจริง ส่วนใหญ่พบว่าไฟที่แสดงถึงสัญญาณขาเข้ามีมากเกินไปจะกระพริบ ผมจะค่อยๆ ลด Gain ลงทีละนิด จนไฟไม่กระพริบ หรือกระพริบนิดเดียว
- ค่อยๆ เปิด Master Volume จนถึงความดังที่ต้องการในขณะนั้นๆ
ถ้าเป็น Active Bass (เบสที่ต้องใส่ถ่าน) โดยส่วนตัว จะเสียบที่ช่อง Passive ก่อนเหมือนกัน ทำตามขั้นตอนข้างต้นเหมือนกัน ถ้าเบสของเรามีสัญญาณที่แรงมากๆ สัญญาณที่ช่องนี้จะพร่ามากๆ ผมจึงจะเปลี่ยนไปใช้ช่องสำหรับ Active เหตุผลก็เพราะว่าช่องสำหรับ Active นี้นั้น โดยทั่วไปจะถูกกดความดังลงไปถึง -10 เป็นอย่างต่ำ บางแบรนด์อาจจะกดลงไปมากกว่านี้ ซึ่งบางครั้งเบส Active ของเราก็ไม่ได้แรงกว่า Passive มากมาย ซึ่งพอไปเสียบช่อง Active ที่โดนกดสัญญาณมากๆ ก็อาจจะรู้สึกว่าเสียงเบสของเราทำไมมันถึงมีพลังแค่นี้เอง ทุกอย่างอยู่ที่ประสบการณ์ด้วยเช่นกัน ทุกอย่างก็มักจะลงเอยด้วยหูของเราเป็นส่วนใหญ่
ทีนี้ก็ค่อยมาพูดถึงการปรับ EQ เราก็ต้องฟังเสียงเบสของเราว่าเรารู้สึกว่าเสียงเบสที่ออกมานั้น มันขาดย่านไหน หรือย่านไหนที่รู้สึกว่ามันเกินออกมา EQ ก็มีสองชนิดใหญ่ๆ ที่ตู้แอมป์จะให้มาคือ
- Graphic EQ จะใช้วิธีสไลด์ขึ้นและลง
- แบบ Volume ทั่วๆ ไป หมุนเพื่อเพิ่มหรือลด
วิธีปรับแต่ง เช่น
- ถ้ารู้สึกว่าเสียงยังไม่โอบใหญ่ ก็ให้เพิ่มที่ย่าน Bass (กรณีเป็นแบบ Volume) หรือปรับเพิ่มที่ 50Hz-250Hz (กรณีเป็นแบบ Graphic)
- ถ้ารู้สึกว่าเสียงยังไม่พุ่งเท่าที่ควร ก็ปรับเพิ่มที่ย่าน Middle หรือ 400Hz–800Hz
- ถ้ารู้สึกว่าปลายเสียงยังไม่ค่อยจิกจิ๊ดจ๊าด ก็ปรับเพิ่มที่ย่าน Treble หรือ 1Khz ขึ้นไป
สำหรับผมนั้น EQ เป็นเพียงสิ่งที่ช่วยปรับเพิ่มหรือลด ในสถานที่นั้นๆ จะไม่ปรับเป็นสูตรเดียวกันหมดทุกที่ บางสถานที่ผมอาจปรับเพิ่มย่าน Bass แค่เบอร์ 6 ในขณะที่อีกสถานที่ ผมอาจปรับลดลงมาเหลือเบอร์ 4 ก็ได้ ซึ่งต้องบอกก่อนว่าผมใช้วิธีฟังและควบคุมโทนเบสให้อยู่ในเกมส์ที่เราสามารถถ่ายทอดออกมาให้เป็นเสียงหรือโทนที่เราต้องการ สถานที่ต่างกัน อาจต้องการสิ่งที่ปรับแต่งไม่เหมือนกัน เพื่อให้ผลออกมาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน การดูดซับหรือการสะท้อนของความถี่ต่างๆ ในสถานที่ต่างๆ ย่อมแตกต่างกันโดยกายภาพอยู่แล้ว เช่นในห้อง A เวลาเราเล่นโน้ตตัว A เราอาจรู้สึกว่าเฉพาะโน้ตตัวนี้ เสียงจะก้องๆ กว่าโน้ตตัวอื่น ถ้าเราปรับลดที่ 440Hz เราก็อาจสามารถลดความก้องของโน้ตตัวนี้ได้ หรือในห้อง B เราเล่นแล้วรู้สึกว่าโน้ตสูงๆ ของเราไม่มีเสียงจิกๆ ก็อาจหมายถึงว่าห้อง B ดูดซับความถี่ย่านแหลมไปมาก ก็ต้องปรับเพิ่ม EQ ที่ย่านแหลมให้มากขึ้น เพื่อชดเชยความถี่ที่สูญเสียไป (เรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อนและต้องใช้การปรับในสถานที่จริงเท่านั้น จึงจะตอบข้อสงสัยของตัวเราได้)
เรื่องการปรับแต่ง EQ เนี่ยก็เหมือนศาสตร์ศาสตร์หนึ่งกันเลยทีเดียว เราจึงต้องการ Sound Engineer ที่เข้าใจทั้งความต้องการของนักดนตรีและโทนเสียงของลักษณะเพลงที่เราเล่น การร่วมงานอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้เรื่องการปรับเสียงทั้งฝ่ายคนเล่นดนตรี หรือฝ่ายที่เข้าใจความถี่เสียง จึงสำคัญทั้งสองฝ่าย จะไปว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยฝ่ายเดียวมันก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่มีพื้นฐานเพียงพอ ก็คงต้องฟังคำอธิบายที่ถูกต้อง หรืออย่างน้อยก็ตอบสนองโทนที่เราพยายามสื่อสารออกมาให้ได้มากที่สุด แล้วจะจบด้วย Happy Ending ทั้งสองฝ่าย หวังว่าเรื่องราวฉบับนี้คงเป็นพื้นฐานในการหาข้อมูลสำหรับการปรับแต่งตู้แอมป์ให้ได้ถูกใจกันได้บ้างนะครับ สวัสดีครับ
j.pap