หลายๆ คนที่เริ่มอยากจะหัดเล่นเบส อาจมีคำถามมากมายในการจับเบสขึ้นมาเพื่อฝึกว่า “จะฝึกอะไรดี แกะเพลงเลยได้มั้ย” จริงๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับว่า เราพอใจอยากจะทำอะไร อยากแกะเพลงก็แกะ แต่ถ้าเราไปเจอเพลงที่ต้องใช้เทคนิคต่างๆ มากขึ้น โดยที่เราก็ยังไม่เคยได้ฝึกทำความเข้าใจมาก่อน มันก็คงใช้เวลาค่อนข้างเยอะกว่าคนอื่น นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเราต้องมีวิธีเรียนรู้และฝึกฝนในแต่ละวันต่างหาก
เริ่มจากวันแรกๆ ที่เราได้เบสมา เราต้องมีอุปกรณ์สำหรับการตั้งสายอยู่แล้ว เราก็เริ่มเรียนรู้การตั้งสาย และจำสายเปล่าว่า สายที่ใหญ่ที่สุดคือสาย 4 (ในที่นี้จะพูดถึงเบส 4 สาย) เริ่มจาก E-A-D-G หลังจากนั้น เราก็เริ่มจำชื่อในแต่ละสาย เรียงลำดับจากสายเปล่าไปในแต่ละช่อง จนถึงช่อง 12 เช่น สาย 4 เริ่มจาก E-F-F#-G-G#-A-A#-B-C-C#-D-D#-E เราอาจจะฝึกมองด้วยสายตาเปล่าๆ ก่อนก็ได้ แต่ถ้าอยากฟังเสียงไปด้วย ก็ต้องใช้เทคนิคของมือซ้าย มือขวาเข้ามาเริ่มฝึกด้วย เพื่อให้เราได้ฟังเสียงที่มีคุณภาพที่ดี เช่นมือซ้ายพยายามกดให้ชิดเฟร็ตเข้าไว้ เพื่อให้การกดมีความแน่นอนมากขึ้น เวลาดีดแล้วจะไม่เกิดอาการสายกระทบเฟร็ตจนมีเสียงพร่าเกิดขึ้น กำลังที่ใช้กดก็ต้องพอเหมาะพอควร ไม่จำเป็นต้องกดแรงมากนัก และที่สำคัญ ควรกดลงไปตรงๆ พยายามอย่ารั้งสายเบสให้โค้งตามกำลังนิ้วมือซ้าย คนที่เริ่มต้นเรียนรู้วิธีนี้ ใช้นิ้วมือซ้ายทุกนิ้วให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด อย่างน้อยก็เป็นการฝึกที่ให้นิ้วทุกนิ้วที่ต้องใช้กดสายได้ออกกำลัง และฝึกให้มันทำงานด้วยตัวมันเองไปในตัวตัวอย่างเช่น เราเริ่มจากนิ้ว 1 (นิ้วชี้) ที่เฟรตที่ 1 ซึ่งก็คือโน้ตตัว F จากนั้นก็เรียงนิ้วตามลำดับของเฟร็ตไปจนถึงเฟร็ตที่ 4 ซึ่งเราก็จะได้นิ้ว 4 (นิ้วก้อย) พอดี จากนั้นเราก็เริ่มด้วยนิ้ว 1 อีกครั้งที่เฟร็ตที่ 5 และเรียงนิ้วไปจนถึงเฟร็ตที่ 8 แล้วเริ่มนิ้ว 1 อีกครั้งที่เฟร็ต 9 ไปจนจบนิ้ว 4 ที่เฟร็ต 12 ทำแบบนี้ทุกๆ สาย จนมือซ้ายจำกำลังกดได้เป็นอย่างดี หรือจำสูตรง่ายๆ ว่านิ้ว 1 จะกดที่เฟร็ต 1, 5, 9 ก็ได้ ส่วนสาย 3 เราก็หัดจำชื่อตัวโน้ตเริ่มจากสายเปล่า คือ A-A#-B-C-C#-D-D#-E-F-F#-G-G#-A สาย 2 ก็จะมีโน้ต D-D#-E-F-F#-G-G#-A-A#-B-C-C#-D สาย 1 ก็ฝึกจำจาก G-G#-A-A#-B-C-C#-D-D#-E-F-F#-G กระบวนการนี้เราอาจใช้เวลาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเราได้ยินเสียงเบสที่มีคุณภาพหรือยัง หรือการเคลื่อนนิ้วมีความคล่องตัวหรือไม่ ที่สำคัญคืออย่าให้เสียงเบสขาดเป็นห้วงๆ
หลังจากนั้นไม่กี่วัน เราอาจจะมาเรียนรู้เรื่อง Half Tone, Whole Tone เพื่อการจำได้ และเป็นการเริ่มต้อนรู้จักกับ Scale ต่างๆ ซึ่ง Half Tone ก็คือ “ตัวโน้ตที่ห่างกันครึ่งเสียง ในทฤษฎีดนตรีสากล และห่างกัน 1 ช่องบนเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย เช่น กีตาร์ เบส อูคูเลเล่ นั่นเอง ส่วน “Whole Tone” ก็คือตัวโน้ตที่ห่างกัน 1เสียง หรือ 2 ช่อง บนสายเดียวกัน” แบบนี้เราอาจจำทำความเข้าใจและเห็นภาพไปด้วย เพื่อเพิ่มการจดจำและฝึกการดีดไปด้วยก็ได้ เราก็จะรู้แล้วว่า C กับ C# เรียกว่า Half Tone ส่วน C กับ D เรียกว่า Whole Tone เป็นต้น
อาจตามติดมาด้วยคำว่า Semitone ให้เรามีความมึนงงเป็นระลอกที่สอง ก็ให้เราจำง่ายๆ ว่า Half Tone = 1 Semitone ส่วน Whole Tone = 2 Semitone พอเราเรียนรู้เรื่องนี้ มันก็จะเกิดโน้ตที่มีการเดินหน้าถอยหลัง ซึ่งชื่อโน้ตก็อาจเรียกต่างกันไป เช่น C-C#-D กับ D-Db-C ซึ่งทำให้เรารู้ว่า C# กับDb มันคือเสียงเดียวกัน แต่เรียกกันคนละสถานะ มันทำให้เราต้องย้อนกลับไปฝึกเรียกชื่อโน้ตถอยหลังอีกครั้ง เช่น ถ้าถอยจากสาย 4 ช่อง 12 แล้วจะกลับมาสายเปล่า เราก็ฝึกเรียกว่า E-Eb-D-Db-C-B-Bb-A-Ab-G-Gb-F-E เป็นต้น
จากการทำความเข้าใจในสองเรื่องนี้แล้ว เราก็ไปถึงขั้นตอนของการเรียนรู้ Scale ต่างๆ ที่สำคัญก็คงต้องเริ่มจาก Major Scale ซึ่งความห่างของเสียงถ้าเขียนเป็นสูตรเริ่มต้นก็จะเป็นแบบนี้ครับ W-W-H-W-W-W-H C Major Scale ก็จะมีลำดับดังนี้ C-D-E-F-G-A-B-C เราก็จะสามารถเข้าใจและหาโน้ตใน Scale อื่นๆ ได้ ไหนๆ เรียนรู้เรื่องนี้แล้ว ก็ฝึก Major Scale ที่เหลือไปด้วยเลย คือ G Maj, D Maj, A Maj, E Maj, B Maj, F# Maj, C# Maj ซึ่งเป็น Scale ทาง Sharp และ F Maj, Bb Maj, Eb Maj, Ab Maj, Db Maj, Gb Maj, Cb Maj ซึ่งเป็น Scale ทาง Flat พอเราเรียนรู้วิธีอ่านชื่อตัวโน้ตแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องหาตำแหน่งต่างๆ บนคอเบส ที่จะดีด Scale เหล่านี้ให้ต่อเนื่องและคุ้นหู ซึ่งมันก็มีเรื่องของตำแหน่ง (Position) การดีดบน Fingerboard เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเท่ากับว่าเราสามารถเล่น Scale เสียงเดียวกัน ได้ด้วยการ เริ่มที่นิ้วมือซ้ายที่แตกต่างกันได้อย่างน้อยก็ 3 แบบ คือเริ่มด้วยนิ้ว 1 หรือนิ้ว 2 หรือนิ้ว 4 ก็ได้ และเราจะได้ทางเดินที่แตกต่างกัน
นี่เป็นตัวอย่างแบบง่ายๆ ที่เราจะเริ่มการฝึกทำความเข้าใจที่จะเล่นเครื่องดนตรีสักเครื่องหนึ่ง นอกเหนือไปจากการสามารถแกะเพลงได้ เราอาจหาเวลามาทำความรู้จักสิ่งที่จำเป็นสำหรับเป็นแหล่งข้อมูลของเรา เพื่อพัฒนาการเล่น พัฒนาความเข้าใจ พัฒนาการฟัง เพื่อเสริมทักษะต่อไปในถนนสายดนตรีที่มักจะวนไปวนมาไม่มีที่สิ้นสุดเป็นแน่แท้